หน้าที่และความรับผิดของผู้ยืมใช้คงรูป


หน้าที่และความรับผิดของผู้ยืมใช้คงรูป 7 ประการ คือ
1. หน้าที่เสียค่าใช้จ่ายในการทำสัญญา ส่งมอบ และส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 642 บัญญัติว่า "ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาก็ดี ค่าส่งมอบ และค่าส่งคืนทรัพย์สินซึ่งยืมก็ดี ย่อมตกแก่ผู้ยืมเป็นผู้เสีย"
- ค่าส่งมอบและส่งคืนทรัพย์สิน ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ผู้ยืมจะต้องเป็นผู้เสีย
- การส่งมอบและส่งคืน ถ้าไม่ได้กำหนดสถานที่ใดไว้ ต้องส่งมอบกัน ณ สถานที่ที่ทรัพย์นั้นอยู่ในเวลาเมื่อก่อให้เกิดหนี้นั้น ตามมาตรา 324 ซึ่งบัญญัติว่า "เมื่อมิได้มีแสดงเจตนาไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าจะพึงชำระหนี้ ณ สถานที่ใดไซร้ หากจะต้องส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านว่าต้องส่งมอบกัน ณ สถานที่ซึ่งทรัพย์นั้นได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อให้เกิดหนี้นั้น ส่วนการชำระหนี้โดยประการอื่น ท่านว่าต้องชำระ ณ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาปัจจุบันของเจ้าหนี้"

2. หน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ทรัพย์สิน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 643 บัญญัติว่า "ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง"
- ปกติคนทั่วไปใช้ทรัพย์สินนั้นทำอะไร ผู้ยืมก็จะต้องใช้อย่างนั้น เช่น รถเก๋งใช้ให้คนนั่ง ไม่ใช่เอาไปใช้บรรทุกของ
- สัญญาว่ายืมรถไปธุระที่เชียงใหม่ จะนำไปใช้เส้นทางอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องไม่ได้
- ผู้ยืมจะต้องเป็นคนใช้สอยทรัพย์สินเอง 
- เมื่อใช้สอยทรัพย์สินเสร็จแล้วหรือเมื่อครบกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ ผู้ยืมต้องคืน
- ถ้าผู้ยืมผิดหน้าที่ตามมาตรานี้ แล้วทรัพย์สินที่ยืมสูญหายหรือบุบสลาย ผู้ยืมจะต้องรับผิด เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรก็ต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่แล้ว เช่น บ้านผู้ยืมและบ้านผู้ให้ยืมเป็นตึกแถวอยู่ติดกันถูกไฟไหม้ทั้งหมด ทรัพย์สินที่ยืมอย่างไรก็ต้องบุบสลายอยู่นั่นเอง ผู้ยืมจึงไม่ต้องรับผิด

3. หน้าที่สงวนทรัพย์สินที่ยืม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 644 บัญญัติว่า "ผู้ยืมจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง"
- ต้องใช้เกณฑ์วิญญูชนว่าในภาวะเช่นนั้นเขาปฏิบัติอย่างไรต่อทรัพย์สินนั้นๆ

4. หน้าที่คืนทรัพย์สินที่ยืม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 640 ตอนท้าย บัญญัติว่า "...ผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้น เมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว"
มาตรา 646 บัญญัติว่า "ถ้ามิได้กำหนดเวลากันไว้ ท่านให้คืนทรัพย์สินที่ยืม เมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้วตามการอันปรากฏในสัญญา แต่ผู้ให้ยืมจะเรียกคืนก่อนนั้นก็ได้ เมื่อเวลาได้ล่วงไปพอแก่การที่ผู้ยืมจะได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว
ถ้าเวลาก็มิได้กำหนดกันไว้ ทั้งในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ายืมไปใช้เพื่อการใดไซร้ ท่านว่าผู้ให้ยืมจะเรียกของคืนเมื่อไรก็ได้"
- ถ้ายืมมีกำหนดเวลาไว้ เมื่อครบกำหนดก็ต้องคืน
- ถ้ายืมไม่มีกำหนดเวลาไว้ ก็ต้องคืนเมื่อใช้สอยเสร็จสิ้น หรือปกติจะใช้ทรัพย์สินเสร็จเมื่อใดก็ต้องคืนเมื่อนั้น
- ถ้ายืมไม่มีกำหนดเวลาและไม่ปรากฏในสัญญาว่ายืมไปเพื่อการใด ผู้ให้ยืมเรียกคืนได้ทันที

5. หน้าที่เสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ยืม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 647 บัญญัติว่า "ค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ผู้ยืมต้องเป็นผู้เสีย"
- เป็นค่าใช้จ่ายตามปกติของการดูแลรักษาทรัพย์สินนั้นๆ เช่น ยืมรถไป ผู้ยืมก็ต้องบำรุงรักษารถให้อยู่ในสภาพดี เติมน้ำ น้ำกลั่น น้ำมันเครื่อง ลมยาง
- ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ผู้ยืมจะเรียกค่าใช้จ่ายตามมาตรานี้จากผู้ให้ยืมไม่ได้
- ถ้าเป็นการซ่อมใหญ่ ไม่ใช่การบำรุงรักษาตามปกติ กฎหมายเรื่องยืมไม่ได้บัญญัติไว้ ถ้าผู้ยืมเอาทรัพย์สินไปซ่อมใหญ่โดยพลการ และไม่ได้ตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายกับผู้ให้ยืมก่อน ผู้ยืมจะเรียกให้ผู้ให้ยืมชดใช้คืนไม่ได้

6. ผู้ยืมต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืมเมื่อผิดหน้าที่
มาตรา 643 และมาตรา 644 กำหนดหน้าที่ของผู้ยืมไว้ดังกล่าว เมื่อเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่ยืม ผู้ยืมจะต้องรับผิดชอบเฉพาะเมื่อผิดหน้าที่ตามสัญญาหรือตามมาตรา 643 หรือมาตรา 644
- ถ้าผู้ยืมไม่ผิดหน้าที่ แม้เกิดความเสียหาย ผู้ยืมก็ไม่ต้องรับผิด

7. ผู้ยืมฟ้องผู้ทำละเมิดทำให้ทรัพย์สินที่ยืมเสียหาย
- ต้องพิจารณาว่า ผู้ยืมมีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืมหรือไม่ 
- ถ้าผู้ยืมใช้ทรัพย์ตามปกติ ไม่ผิดหน้าที่ แต่มีบุคคลภายนอกมาทำละเมิด ทำให้ทรัพย์สินที่ยืมเสียหาย แม้ผู้ยืมจะเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมทรัพย์สินให้กลับสู่สภาพเดิม ผู้ยืมก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ทำละเมิดใช้ค่าเสียหาย เป็นเรื่องที่ผู้ให้ยืมจะต้องฟ้องเอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6683/2537 โจทก์ยืมรถยนต์มาใช้แล้วถูกจำเลยทำละเมิดขับรถยนต์มาชนท้ายรถคันที่ยืมเสียหาย แม้มาตรา 647 จะบัญญัติว่าค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติและการบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ยืมนั้น ผู้ยืมต้องเป็นผู้เสีย ก็มีความหมายเพียงว่า ผู้ยืมต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ยืมอันเป็นปกติของการใช้ทรัพย์สินที่ยืมเท่านั้น มิใช่กรณีอันเกิดจากการถูกกระทำละเมิดซึ่งเป็นเหตุอันผิดปกติที่มีมาตรา 420 และมาตรา 438 วรรคสอง บัญญัติให้ผู้ทำละเมิดต้องรับผิดไว้แล้ว โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องซ่อมรถยนต์คันที่จำเลยทำให้เสียหาย โจทก์มิใช่ผู้ได้รับความเสียหายจากการทำละเมิด จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2766/2551 โจทก์ผู้ยืมรถยนต์ยืนยันในคำฟ้องว่าเหตุละเมิดที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ดังนี้ โจทก์ในฐานะผู้ยืมจึงไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าของทรัพย์ แม้โจทก์จะได้ซ่อมรถยนต์คันที่ยืมมาเรียบร้อยแล้ว โจทก์ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับช่วงสิทธิของเจ้าของทรัพย์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดได้ เพราะการรับช่วงสิทธิจะมีได้ต่อเมื่อผู้รับช่วงสิทธิมีหนี้อันจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้คือเจ้าของรถ เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้รับช่วงสิทธิ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ที่มา
อาจารย์ปัญญา ถนอมรอด. คำบรรยายเนติบัณฑิต ภาค 1 สมัยที่ 72 ปีการศึกษา 2562 เล่มที่ 1 วิชายืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542