การหลบหลีกภาษี ไม่เป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร
การกระทำความผิดตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ต้องมีเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 ด้วย โดยจำเลยทั้งสองต้องมีเจตนาร่วมกันหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร และต้องร่วมกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นทำนองเดียวกัน
การหลีกเลี่ยงภาษีอากรที่ต้องเสียตามลักษณะนี้ ต้องเป็นการหลีกเลี่ยงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (Tax Evasion) มิใช่เป็นการที่ผู้เสียภาษีใช้วิธีไม่ผิดกฎหมายทำให้เสียภาษีอากรน้อยลง หรือไม่ต้องเสียภาษี โดยใช้ความคลุมเครือของกฎหมาย หรือใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย หรือความบกพร่องของกฎหมาย อันเป็นเพียงการหลบหลีกภาษี (Tax Avoidance) ซึ่งยังไม่เป็นความผิดตามมาตรา 37
การไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมิน มิได้หมายความว่าจะถือเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37
เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ แม้จำนวนภาษีดังกล่าวจะยุติตามการประเมิน ก็ฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 1 กระทำการหลบหลีกภาษีอากรที่ยอมรับไม่ได้ (Unacceptable Tax Avoidance) หรือเป็นการหลบหลีกภาษีอากรที่ไม่บริสุทธิ์ (Abusive Tax Avoidance) ซึ่งมีโทษเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอันเป็นโทษทางแพ่งเท่านั้น
อ้างอิง
ประมวลรัษฎากร
มาตรา 37 บัญญัติว่า "ผู้ใด
(1) โดยรู้อยู่แล้วหรือโดยจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามลักษณะนี้ หรือ
(2) โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามลักษณะนี้
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท"
ต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 37 โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 41) พ.ศ. 2559 ดังนี้
มาตรา 37 ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปีและปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท
(1) โดยเจตนาแจ้งข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จหรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือเพื่อขอคืนภาษีอากรตามลักษณะนี้ หรือ
(2) โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือขอคืนภาษีอากรตามลักษณะนี้
ระบบสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8967/2561
#นักเรียนกฎหมาย
5 ธันวาคม 2562
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น