ความผิดฐานลักทรัพย์ที่เกิดขึ้นภายหลังแยกต่างหากจากความผิดฐานชิงทรัพย์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2562
   จำเลยขับรถจักรยานยนต์ติดตามผู้เสียหายมาถึงที่เกิดเหตุ ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ไปจอดที่ลานจอดรถในมหาวิทยาลัย น. ผู้เสียหายยังไม่ได้ลงจากรถ จำเลยเดินมาจากด้านหลังของผู้เสียหาย แล้วถามผู้เสียหายว่ามีเงินเท่าใด จากนั้นเข้าประชิดตัวผู้เสียหายพร้อมกับทำท่าจะล้วงอาวุธจากขอบกางเกงข้างหลัง 


   ลักษณะการกระทำของจำเลยดังกล่าวเห็นได้อย่างชัดเจน ว่าเป็นการข่มขู่คุกคามผู้เสียหาย โดยเฉพาะจำเลยเป็นชายอยู่ในวัยฉกรรจ์ ร่างกายล่ำกำยำ สูงกว่าผู้เสียหายมาก ส่วนผู้เสียหายเป็นหญิง กำลังศึกษา ย่อมเกิดความเกรงกลัวจำเลย พฤติการณ์ของจำเลยถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายว่า ในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย 

   การที่จำเลยกระทำและพูดกับผู้เสียหายเช่นนั้น เพื่อให้ผู้เสียหายส่งเงินให้แก่จำเลย เมื่อผู้เสียหายส่งเงินให้ 240 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 (2) วรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรี โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยเป็นผู้หยิบเอาทรัพย์นั้นเอง หรือผู้เสียหายเป็นผู้หยิบส่งให้ไป

   การที่ผู้เสียหายเบิกความว่า หลังจากส่งเงินให้จำเลยแล้ว จำเลยกอดปล้ำพยายามดึงกางเกงผู้เสียหาย ผู้เสียหายกลัวจำเลยจะข่มขืนกระทำชำเรา จึงถอดสร้อยคอทองคำที่สวมให้จำเลยไปเอง โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยขู่เข็ญหรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อมุ่งประสงค์ต่อสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายแต่อย่างใด หากแต่ผู้เสียหายคิดว่า เมื่อจำเลยได้สร้อยคอทองคำแล้ว จะปล่อยตัวผู้เสียหายไป การที่จำเลยรับสร้อยคอทองคำไป จึงเป็นเจตนาทุจริตที่เกิดขึ้นภายหลัง การกระทำของจำเลยในส่วนนี้ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 อีกกระทงหนึ่งแยกต่างหากจากฐานชิงทรัพย์เงิน 240 บาท 

   เมื่อความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นความผิดที่รวมการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์อยู่ด้วย แม้โจทก์ฟ้องให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์เงินสดและสร้อยคอทองคำ แต่เมื่อพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์สร้อยคอทองคำ ศาลย่อมมีอำนาจปรับบทความผิดและบทลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา192 วรรคท้าย มาตรา 195 วรรคสอง มาตรา 225 แต่เนื่องจากโจทก์มิได้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์อีกกระทงได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มโทษ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

อ้างอิง
ประมวลกฎหมายอาญา
   มาตรา 334 บัญญัติว่า "ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท"

   มาตรา 339 บัญญัติว่า "ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
   (1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป
   (2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
   (3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
   (4) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ
   (5) ให้พ้นจากการจับกุม
   ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท
   ถ้าความผิดนั้นเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดแห่งมาตรา 335 หรือเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสามแสนบาท
   ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท
   ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสี่แสนบาท
   ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต"

   มาตรา 340 ตรี บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 339 มาตรา 339 ทวิ มาตรา 340 หรือมาตรา 340 ทวิ โดยแต่งเครื่องแบบทหารหรือตำรวจหรือแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นทหารหรือตำรวจ หรือโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง"

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
   มาตรา 192 วรรคท้าย บัญญัติว่า "ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้"

   มาตรา 195 วรรคสอง บัญญัติว่า "ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยอุทธรณ์ เหล่านี้ผู้อุทธรณ์หรือศาลยกขึ้นอ้างได้ แม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นก็ตาม"

   มาตรา 212 บัญญัติว่า "คดีที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้น"

   มาตรา 225 บัญญัติว่า "ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณา และว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งชั้นอุทธรณ์มาบังคับในชั้นฎีกาโดยอนุโลม เว้นแต่ห้ามมิให้ทำความเห็นแย้ง"
#นักเรียนกฎหมาย
16 ธันวาคม 2562

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542