ผู้ต้องหาขัดขืนไม่มาให้การตามหมายเรียก ไม่ใช่การขัดขืนคำบังคับ แต่ต้องออกหมายจับ
ในชั้นสอบสวนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 (เดิม) บัญญัติว่า ผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใดหรือจะไม่เต็มใจให้การเลยก็ได้ แสดงชัดว่าพนักงานสอบสวนจะบังคับให้ผู้ต้องหาให้ถ้อยคำใดๆ ไม่ได้ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 135 ก็บัญญัติห้ามมิให้พนักงานสอบสวนล่อลวงหรือขู่เข็ญผู้ต้องหาให้ให้การอีกด้วย เห็นได้ว่าหมายเรียกของพนักงานสอบสวนที่ให้ผู้ต้องหามาเพื่อให้การนั้น ไม่เข้าลักษณะเป็นคำบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 168
ส่วนกรณีที่ผู้ต้องหาขัดขืนไม่มาให้การตามหมายเรียกโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 (3) (เดิม) ก็บัญญัติทางแก้ไว้ คือ ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจออกหมายจับตัวมาได้ อันเป็นการลงโทษผู้ต้องหาที่ขัดขืนหมายเรียกอยู่แล้ว
ศาลฎีกาเห็นว่า เจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 168 หาได้มุ่งหมายจะใช้บังคับกับผู้ต้องหาที่ขัดขืนไม่มาให้การต่อพนักงานสอบสวนไม่ การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นความผิดตามฟ้อง
อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1341/2509 (ประชุมใหญ่)
#นักเรียนกฎหมาย
27 ธันวาคม 2562
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น