ความรับผิดทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2813/2562 วินิจฉัยว่า
แม้จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล ซึ่งเป็นเพียงบุคคลสมมติโดยอำนาจของกฎหมาย ต้องดำเนินหรือปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ของบริษัทผู้แทนนิติบุคคลก็ตาม
แต่ความรับผิดทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล ยังคงต้องพิจารณาตามหลักทั่วไป โดยต้องปรากฏว่าผู้แทนนิติบุคคลนั้นได้กระทำผิดโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 เป็นองค์ประกอบสำคัญ
คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ประกาศเลิกกิจการและเลิกจ้างก่อนที่จำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นกรรมการ ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่เคยแสดงตัวและเจตนาเข้าดำเนินงานจัดการแทนจำเลยที่ 1 เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ถูกใช้ชื่อจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้เป็นกรรมการแทน ก. กรรมการคนก่อนระหว่างรอให้การเลิกกิจการและเลิกจ้างมีผลในวันที่ 1 เมษายน 2557 เท่านั้น
พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 และร่วมกับจำเลยที่ 1 ไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่มีการเลิกจ้างให้ลูกจ้าง ฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน
โจทก์จึงต้องอุทธรณ์ว่า มีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์อย่างไรที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจและมีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง
การที่โจทก์อุทธรณ์เพียงว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7 นั้น ยังไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจและร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องอย่างไร
อ้างอิง
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 59 บัญญัติว่า "บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้
กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้น จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย"
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 7 บัญญัติว่า "ในการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาคดีที่นิติบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้ออกหมายเรียกผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นๆ ของนิติบุคคลนั้น ให้ไปยังพนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณี
ถ้าผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก จะออกหมายจับผู้นั้นมาก็ได้ แต่ห้ามมิให้ใช้บทบัญญัติว่าด้วยปล่อยชั่วคราว ขังหรือจำคุกแก่ผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคล ในคดีที่นิติบุคคลนั้นเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย"
#นักเรียนกฎหมาย
9 ธันวาคม 2562
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น