วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนที่เหมาะสมแก่อายุจำเลย



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10272/2559
   พฤติการณ์ที่จำเลยเป็นฝ่ายโทรศัพท์นัดหมายผู้เสียหายที่ 1 แล้วขับรถจักรยานยนต์พา อ. นั่งซ้อนท้ายไปรับผู้เสียหายที่ 1 หน้าโรงเรียนและพาออกนอกเส้นทางไปที่ร้านถ่ายรูป และไปขายบริการที่โรงแรมก็ดี และมีการรับตัวผู้เสียหายที่ 1 ไปพักที่บ้าน ด. ก็ดี แล้วผู้เสียหายที่ 1 ถูก อ. กระทำชำเรา ล้วนบ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยกับ อ. ได้นัดกันไว้แล้วล่วงหน้า แม้ผู้เสียหายที่ 1 จะยินยอมสมัครใจเดินทางไปทุกหนแห่งกับจำเลยและ อ. รวมทั้งยินยอมให้ อ. กระทำชำเราก็ตาม

   แต่ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาของผู้เสียหายที่ 1 มิได้ตกลงยินยอมด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการก้าวล่วง กระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 และขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 อายุเพียง 14 ปีเศษ ความยินยอมของผู้เสียหายที่ 1 หาได้มีผลทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดแต่อย่างใดไม่

   พฤติการณ์ของจำเลยมีลักษณะเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำระหว่างจำเลยกับพวก การกระทำของจำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิด ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารและร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร หาใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุนไม่

   ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 14 ปีเศษ ไม่ต้องรับโทษ ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 2 มีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี แต่ไม่เกินกว่าจำเลยมีอายุ 18 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 (5) โดยมีเจตนารมณ์เพื่อแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของจำเลยให้กลับตนเป็นคนดี

   แต่ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยมีอายุครบ 18 ปี ศาลจึงไม่อาจส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรมได้ จึงสมควรที่จะดำเนินการแก่จำเลยตาม
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 ประการอื่นที่เหมาะสมแก่จำเลย โดยเห็นว่าควรมอบตัวจำเลยให้มารดา หรือผู้ปกครองซึ่งยังสามารถดูแลจำเลยได้ไป โดยวางข้อกำหนดให้มารดาหรือผู้ปกครองปฏิบัติตามและเพื่อให้จำเลยหลาบจำ ตามมาตรา 74 (2) เห็นสมควรกำหนดวิธีการและเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติจำเลยตามมาตรา 74 (3) ด้วย

อ้างอิง
ประมวลกฎหมายอาญา
   มาตรา 317 บัญญัติว่า "ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท
   ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวเด็กซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น
   ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท"

   มาตรา 74 บัญญัติว่า "เด็กอายุกว่าสิบปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการ ดังต่อไปนี้
   (1) ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป และถ้าศาลเห็นสมควรจะเรียกบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาตักเตือนด้วยก็ได้
   (2) ถ้าศาลเห็นว่า บิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนดซึ่งต้องไม่เกินสามปีและกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควรซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครองจะต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละหนึ่งหมื่นบาท ในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น
   ถ้าเด็กนั้นอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และศาลเห็นว่าไม่สมควรจะเรียกบิดา มารดา หรือผู้ปกครองมาวางข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้น ศาลจะเรียกตัวบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาสอบถามว่า จะยอมรับข้อกำหนดทำนองที่บัญญัติไว้สำหรับบิดา มารดา หรือผู้ปกครองดังกล่าวมาข้างต้นหรือไม่ก็ได้ ถ้าบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ยอมรับข้อกำหนดเช่นว่านั้น ก็ให้ศาลมีคำสั่งมอบตัวเด็กให้แก่บุคคลนั้นไปโดยวางข้อกำหนดดังกล่าว
   (3) ในกรณีที่ศาลมอบตัวเด็กให้แก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ตาม (2) ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้นเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 56 ด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลแต่งตั้งพนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานอื่นใดเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้น
   (4) ถ้าเด็กนั้นไม่มีบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง หรือมีแต่ศาลเห็นว่าไม่สามารถดูแลเด็กนั้นได้หรือถ้าเด็กอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และบุคคลนั้นไม่ยอมรับข้อกำหนดดังกล่าวใน (2) ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้อยู่กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควรเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอนตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ในเมื่อบุคคลหรือองค์การนั้นยินยอม ในกรณีเช่นว่านี้ให้บุคคลหรือองค์การนั้นมีอำนาจเช่นผู้ปกครองเฉพาะเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอน รวมตลอดถึงการกำหนดที่อยู่และการจัดให้เด็กมีงานทำตามสมควร หรือให้ดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นก็ได้ หรือ
   (5) ส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียน หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่อย่าให้เกินกว่าที่เด็กนั้นจะมีอายุครบสิบแปดปี
   คำสั่งของศาลดังกล่าวใน (2) (3) (4) และ (5) นั้น ถ้าในขณะใดภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดไว้ ความปรากฏแก่ศาลโดยศาลรู้เอง หรือตามคำเสนอของผู้มีส่วนได้เสีย พนักงานอัยการ หรือบุคคลหรือองค์การที่ศาลมอบตัวเด็กเพื่อดูแล อบรมและสั่งสอน หรือเจ้าพนักงานว่า พฤติการณ์เกี่ยวกับคำสั่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป ก็ให้ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งนั้น หรือมีคำสั่งใหม่ตามอำนาจในมาตรานี้"
#นักเรียนกฎหมาย
19 ธันวาคม 2562

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542