แนวทางปฏิบัติของหน่วยงานรัฐ ในการบังคับคดีและสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา



การบังคับคดีและสืบหาหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของหน่วยงานของรัฐหรือส่วนราชการที่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะต้องดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการ

กระทรวงการคลังได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการบังคับคดีและการสืบหาหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เพื่อให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติ ดังนี้

1. ให้ส่วนราชการแต่งตั้งคณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการบังคับคดีและสืบหาหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของลูกหนี้ทันทีที่มีหมายบังคับคดีแล้ว

2. ให้คณะกรรมการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ดำเนินการบังคับคดีและสืบหาหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามแนวทาง ดังต่อไปนี้
  (1) ประสานงานกับกรมที่ดิน เพื่อตรวจสอบหลักทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่ปรากฏรายชื่อลูกหนี้ ครอบครัวลูกหนี้ ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับลูกหนี้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ซึ่งอาจนำยึดมาบังคับคดีได้
  โดยให้ตรวจสอบตามภูมิลำเนาเดิมที่เคยอยู่อาศัย สถานที่ที่เคยย้ายไปดำรงตำแหน่ง และภูมิลำเนาปัจจุบันด้วย
  (2) ตรวจสอบทรัพย์สินประเภทสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ หุ้นส่วนในบริษัท หรือหลักประกันการขอใช้ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ โดยประสานงานกับส่วนราชการหรือหน่วยงานที่จัดทำทะเบียนควบคุมสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว
  (3) สืบหาทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ในสำนักงาน บ้านพักของลูกหนี้หรือครอบครัวหรือผู้ที่เกี่ยวข้องอันอาจมีทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้ในครอบครอง
  (4) ขอความร่วมมือจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน เพื่อตรวจสอบหลักทรัพย์หรือบัญชีเงินฝากในธนาคารและสถาบันการเงินนั้นๆ
  การขอความร่วมมือจากธนาคารหรือสถาบันการเงินเพื่อตรวจสอบหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งเป็นผลมาจากคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาล ส่วนราชการจะต้องส่งสำเนาคำบังคับให้กับธนาคารหรือสถาบันการเงิน โดยอาจดำเนินการเพียงธนาคารหรือสถาบันการเงินซึ่งคาดว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ทำธุรกรรมกับธนาคารหรือสถาบันการเงินนั้นๆ เช่น ลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เป็นคู่สัญญากับทางราชการและในการทำสัญญาได้ใช้หนังสือค้ำประกันของธนาคารหรือสถาบันการเงินดังกล่าวเป็นหลักประกัน เป็นต้น ส่วนการที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะให้ความร่วมมือหรือไม่นั้น ย่อมเป็นดุลพินิจของธนาคารหรือสถาบันการเงินแต่ละรายที่จะให้ความร่วมมือในการบังคับคดีให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม
  (5) ดำเนินการอื่นใด ในการบังคับคดีและสืบหาหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของลูกหนี้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการ

3. ให้ส่วนราชการรายงานผลดำเนินการบังคับคดีและสืบหาหลักทรัพย์ให้กรมบัญชีกลางทราบทุกระยะ 3 เดือน

4. การขออนุมัติจำหน่ายหนี้ที่ไม่สามารถสืบหาหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ ส่วนราชการต้องส่งหลักฐานการดำเนินการข้างต้นให้กระทรวงการคลังเพื่อประกอบการพิจารณาขออนุมัติ และในกรณีที่ไม่พบหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของลูกหนี้ต้องแจ้งเหตุผลไว้ด้วย

แนวทางปฏิบัติในการบังคับคดีและการสืบหาหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาข้างต้น เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นเพื่อให้ส่วนราชการต่างๆ ถือปฏิบัติ หากส่วนราชการใดพิจารณาแล้วเห็นว่าควรดำเนินการประการอื่นที่ทำให้ทางราชการได้รับประโยชน์สูงสุดจากการบังคับคดีกับลูกหนี้ตามคำพิพากษา ก็สามารถดำเนินการตามที่เห็นสมควรต่อไป

อ้างอิง หนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0530.7/ว 107 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2544 และหนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0406.2/ว 46 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2548 (คลิกดาวน์โหลดไฟล์)
#นักเรียนกฎหมาย
17 ธันวาคม 2562

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542