เจ้าหนี้ปลดหนี้ให้ลูกหนี้ร่วม
โจทก์ จำเลย กับพวกเป็นผู้ค้ำประกันหนี้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่บริษัท ธ. มีต่อบริษัท บ. จึงเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682 วรรคสอง ซึ่งต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆ กัน
ถ้าเจ้าหนี้ได้ปลดหนี้ให้ลูกหนี้ร่วมคนใดแล้ว ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 296
การที่จำเลยและบริษัท บ. ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2555 โดยมีข้อตกลงให้จำเลยชำระหนี้ 1,600,000 บาท และเมื่อจำเลยปฏิบัติตามสัญญาฉบับนี้ครบถ้วนเสร็จสิ้น บริษัท บ. จะถอนการยึดที่ดินรวมทั้งหมด 5 แปลง ให้แก่จำเลย และจะไม่ดำเนินคดีใดๆ กับจำเลยอีกต่อไป
ต่อมาบริษัท บ. มีหนังสือยืนยันการชำระหนี้ว่า จำเลยชำระหนี้ให้แก่บริษัท บ. ครบถ้วนตามเงื่อนไขสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2555
แสดงให้เห็นว่าบริษัท บ. เจ้าหนี้ได้ปลดหนี้ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมที่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมได้ระงับสิ้นไปแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340 ประกอบมาตรา 296
เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้อีก โจทก์จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิของบริษัท บ. ที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้
อนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประการหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 ประกอบตาราง 7 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลอุทธรณ์ไม่ได้กำหนดให้ชัดแจ้ง ศาลฎีกาเห็นควรมีคำสั่งให้ชัดแจ้ง
อ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 682 บัญญัติว่า "ท่านว่าบุคคลจะยอมเข้าเป็นผู้รับเรือน คือเป็นประกันของผู้ค้ำประกันอีกชั้นหนึ่ง ก็เป็นได้
ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้น มีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกัน"
มาตรา 296 บัญญัติว่า "ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น ท่านว่าต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ถ้าส่วนที่ลูกหนี้ร่วมกันคนใดคนหนึ่งจะพึงชำระนั้น เป็นอันจะเรียกเอาจากคนนั้นไม่ได้ไซร้ ยังขาดจำนวนอยู่เท่าไรลูกหนี้คนอื่นๆ ซึ่งจำต้องออกส่วนด้วยนั้น ก็ต้องรับใช้ แต่ถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใดเจ้าหนี้ได้ปลดให้หลุดพ้นจากหนี้อันร่วมกันนั้นแล้ว ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ไป"
มาตรา 340 บัญญัติว่า "ถ้าเจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะปลดหนี้ให้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป
ถ้าหนี้มีหนังสือเป็นหลักฐาน การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย หรือต้องเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือขีดฆ่าเอกสารนั้นเสีย"
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 149 บัญญัติว่า "ค่าฤชาธรรมเนียม ได้แก่ ค่าธรรมเนียมศาล ค่าสืบพยานหลักฐานนอกศาล ค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พักของพยาน ผู้เชี่ยวชาญ ล่าม และเจ้าพนักงานศาล ค่าทนายความ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ตลอดจนค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ บรรดาที่กฎหมายบังคับให้ชำระ
ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ว่าด้วยการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ค่าธรรมเนียมศาลที่เป็นค่าขึ้นศาล ให้คู่ความผู้ยื่นคำฟ้องเป็นผู้ชำระเมื่อยื่นคำฟ้อง
ค่าธรรมเนียมศาลนั้น ให้ชำระหรือนำมาวางศาลเป็นเงินสดหรือเช็คซึ่งธนาคารรับรอง โดยเจ้าพนักงานศาลออกใบรับให้ หรือตามวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
คำฟ้อง คำฟ้องอุทธรณ์ คำฟ้องฎีกา คำร้องสอด คำให้การ หรือคำร้องคำขออื่นซึ่งได้ยื่นต่อศาลพร้อมคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลตามมาตรา 156 ตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นไต่สวนคำร้องดังกล่าว ไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมศาลและเงินวางศาลมาชำระ เว้นแต่ศาลจะได้ยกคำร้องนั้นเสีย"
#นักเรียนกฎหมาย
14ธันวาคม 2562
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น