ลักษณะของสัญญายืมใช้คงรูป


ลักษณะของสัญญายืมใช้คงรูปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มี 4 ประการ ได้แก่
1. เป็นสัญญาที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สิน ซึ่งมาตรา 640 ใช้คำว่า "...ให้..ผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่ง" ดังนั้น ทรัพย์สินที่ยืมอาจมีรูปร่างหรือไม่มีรูปร่างก็ได้ และจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้

2. เป็นสัญญาที่ไม่มีค่าตอบแทน มาตรา 640 ใช้คำว่า "ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า" จึงไม่มีค่าตอบแทน โดยถือตัวผู้ยืมเป็นสำคัญ และมาตรา 648 บัญญัติว่า ยืมใช้คงรูป ย่อมระงับสิ้นไปด้วยมรณะแห่งผู้ยืม ถ้าผู้ยืมตายสัญญายืมระงับ แต่ผู้ให้ยืมตายสัญญายืมไม่ระงับ

3. เป็นสัญญาที่ไม่โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืม ซึ่งผู้ยืมจะต้องคืนทรัพย์สินเมื่อใช้สอยเสร็จแล้ว ยืมทรัพย์สินใดไปก็ต้องนำทรัพย์สินนั้นมาคืน จะนำทรัพย์สินอื่นมาคืนแทนไม่ได้ ดังนั้น ผู้ให้ยืมไม่จำเป็นจะต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้ยืม

4. เป็นสัญญาที่บริบูรณ์เมื่อส่งมอบทรัพย์สิน มาตรา 641 บัญญัติให้การยืมใช้คงรูป ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม ตราบใดที่ยังไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ยืม ย่อมไม่เกิดสิทธิหน้าที่ตามสัญญา เมื่อได้ส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ยืมแล้ว สัญญาก็จะครบถ้วนบริบูรณ์ คู่สัญญามีสิทธิหน้าที่ตามที่กำหนดในสัญญาและกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกา
ฎ. 526/2529 โจทก์ติดต่อซื้อรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุเพื่อใช้ในราชการ โดยโจทก์ได้รับรถยนต์จากผู้ขายมาใช้ก่อน ในวันเกิดเหตุจำเลยยืมรถยนต์คันดังกล่าวจากโจทก์ไปใช้ และเกิดอุบัติเหตุได้รับความเสียหาย โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญายืมใช้คงรูป เมื่อรถยนต์คันที่จำเลยยืมไปใช้เกิดความเสียหาย แม้โจทก์จะได้ชำระค่าซ่อมรถยนต์ให้แก่ผู้ซ่อมหรือเจ้าของรถยนต์นั้นแล้วหรือไม่ก็ตาม ถือได้แล้วว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิตามสัญญายืมใช้คงรูปเกิดขึ้นแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง 
   คำฟ้องของโจทก์กล่าวว่า จำเลยยืมรถยนต์คันเกิดเหตุไปจากโจทก์ ต่อมาเกิดอุบัติเหตุชนกับรถยนต์บรรทุกสิบล้อของบุคคลอื่น รถยนต์คันดังกล่าวเกิดความเสียหายขึ้นในระหว่างที่โจทก์ดูแลและทดลองใช้อยู่ โจทก์ชำระเงินค่าซ่อมให้เจ้าของรถแล้ว จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้เงินคืนแก่โจทก์ ตามคำฟ้องดังกล่าวไม่ปรากฏเหตุใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 643 ที่จะทำให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์

ฎ. 1407/2538 โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทรายการที่ 1 ถึงที่ 4 จึงมีสิทธิติดตามเอาคืนจากจำเลยได้ ทรัพย์พิพาทรายการที่ 5 ไม่ใช่ทรัพย์ของโจทก์ แต่เป็นทรัพย์ของผู้อื่นที่โจทก์ขอยืมมาแล้วให้ ท.ยืมไปอีกต่อหนึ่ง ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงสิทธิครอบครองในทรัพย์พิพาทรายการนี้ เมื่อทรัพย์พิพาทรายการนี้ไปตกอยู่กับจำเลย โดยจำเลยไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของ โจทก์ในฐานะเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในทรัพย์รายการนี้ ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ได้

ที่มา
- อาจารย์ปัญญา ถนอมรอด. รวมคำบรรยายเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 72 ปีการศึกษา 2562 เล่มที่ 1 วิชายืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ

- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
   มาตรา 640 บัญญัติว่า "อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว"
   มาตรา 641 บัญญัติว่า "การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม"
   มาตรา 648 บัญญัติว่า "อันการยืมใช้คงรูป ย่อมระงับสิ้นไปด้วยมรณะแห่งผู้ยืม"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542