เหตุผลที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
โดยปกติ เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 120 วันขึ้นไป นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามอัตราที่กำหนด จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 118
อย่างไรก็ตาม หากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยอาศัยเหตุผล ตามมาตรา 119 ก็ไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ดังนี้
1. ทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำใดๆ ที่เป็นการประพฤติชั่ว โกง หรือไม่ซื่อตรงในการปฏิบัติงาน เช่น
- เบียดบัง ยักยอกเงินไว้เป็นของตนเอง
- เบิกค่าใช้จ่ายเท็จ โดยรู้ว่าตนเองไม่มีสิทธิเบิก
- มีหน้าที่รับเงินและนำส่งนายจ้าง แต่ไม่นำส่ง
- แสวงหาประโยชน์ทำให้นายจ้างสูญเสียรายได้
- เบียดบังเวลาและทรัพย์สินของนายจ้าง
2. กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง โดยลูกจ้างตั้งใจกระทำความผิดกฎหมายอาญาต่อนายจ้างหรือบุคคลที่ถือว่าเป็นนายนายหรือกระทำต่อกิจการงานของนายจ้าง เช่น
- แก้ไขใบรับรองแพทย์ให้หยุดเพิ่มขึ้น เป็นความผิดอาญาฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม
- รู้เห็นหรือสนับสนุนการลักทรัพย์ของนายจ้าง อันเป็นความผิดอาญาฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร
- ยื่นใบลาออกแล้ว ต่อมาฉีกใบลาออกทิ้ง ผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
3. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ลูกจ้างมีเจตนาให้เกิดความเสียหาย โดยไม่ต้องดูว่าจะเกิดความเสียหายขึ้นจริงหรือไม่ และจะเกิดความเสียหายมากน้อยเพียงใดก็ตาม เช่น
- ขัดขวางไม่ให้มีการทำงานให้แก่นายจ้าง
- นัดหยุดงานโดยไม่ปฏิบัติขั้นตอนของกฎหมาย
- ลูกจ้างตั้งบริษัทแข่งขันกับนายจ้าง โดยมีลูกค้ากลุ่มเดียวกัน
4. ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ลูกจ้างปฏิบัติงานโดยประมาทเลินเล่อและทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เช่น
- มีหน้าที่ตรวจสอบแต่ไม่ตรวจสอบ กลับเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้า จนนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
- สินค้าคงคลังที่อยู่ในความรับผิดชอบหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ มูลค่า 6 ล้านกว่าบาท
- ไม่ควบคุมลูกน้องให้จัดทำบัญชีคุมทรัพย์สิน ทำให้ทรัพย์สินหายไป 3 แสนกว่าบาท
5. ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงไม่ต้องตักเตือน
กรณีนี้จะต้องมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งกำหนดให้ลูกจ้างต้องปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ เช่น
- คำสั่งให้ไปทำงานไกลขึ้นโดยไม่จัดที่พักหรือรถรับส่ง แม้คำสั่งจะชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม
- คำสั่งเปลี่ยนตำแหน่งหัวหน้ายามให้ไปเป็นยาม คำสั่งไม่เป็นคุณ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- คำสั่งลดตำแหน่งลูกจ้างลง แม้ค่าจ้างเท่าเดิม ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม
- คำสั่งเปลี่ยนหน้าที่ลูกจ้างเนื่องจากเจ็บป่วย อาจชอบด้วยกฎหมายได้
ในเรื่องการฝ่าฝืนข้อบังคับนี้ หากเป็นกรณีร้ายแรง นายจ้างเลิกจ้างได้ทันที เช่น
- เล่นการพนันบริเวณที่ทำงาน
- ตอกบัตรทำงานแทนกัน
- สูบบุหรี่ข้างกล่องกระดาษซึ่งกองไว้เป็นจำนวนมาก
- เมาสุราขณะทำงาน
- ฉีกทำลายประกาศเตือนว่ากระทำผิดวินัย
- เรียกรับเงินเข้าทำงาน
แต่หากเป็นกรณีไม่ร้ายแรง นายจ้างจะต้องตักเตือนลูกจ้างเป็นหนังสือก่อนและหากลูกจ้างกระทำผิดในเรื่องเดียวกันอีกภายใน 1 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิดครั้งแรก จึงจะเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ เช่น
- ผู้ออกหนังสือเตือนต้องมีอำนาจว่าจ้างหรือเลิกจ้างหรือได้รับมอบหมายให้มีอำนาจออกหนังสือเตือนด้วย
- หัวหน้าแผนกซึ่งไม่ได้รับมอบหมายให้ออกหนังสือเตือน ไม่ถือว่าเป็นหนังสือเตือนที่ชอบด้วยกฎหมาย
- ครั้งแรกเตือนเรื่องลากิจ ต่อมาเป็นเรื่องลาป่วย ถือว่าเป็นคนละเรื่องกัน
6. ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร เช่น
- ไม่ไปทำงาน 2 วันครึ่ง ไม่ใช่กรณีนี้ ซึ่งกำหนดว่า 3 วันทำงานติดต่อกัน
- หากนายจ้างลงโทษลูกจ้างเรื่องใดแล้ว ไม่สามารถนำมากล่าวอ้างว่าลูกจ้างทำผิดซ้ำคำเตือนในเรื่องเดิมได้อีก
- การนัดหยุดงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่กรณีนี้แล้ว
- ลงเวลาทำงานแต่ไม่ทำงาน ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่
- ลูกจ้างแจ้งการลาออกด้วยวาจาต่อหัวหน้าซึ่งไม่ใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนายจ้าง สัญญาจ้างยังไม่สิ้นสุดลง เมื่อลูกจ้างไม่ไปทำงาน จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร
- ไม่ไปทำงานเพราะถูกตำรวจจับกุม ถือว่ามีเหตุอันสมควรที่ทำให้ไปทำงานไม่ได้
7. ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แต่ถ้าเป็นความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายด้วย
- ลูกจ้างจะกระทำผิดก่อนหรือขณะเป็นลูกจ้างก็ได้ แต่ขณะเป็นลูกจ้างจะต้องได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดและต้องมิใช่ความผิดที่เกิดจากการประมาทหรือความผิดลหุโทษ
อ้างอิง
ศาสตราจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ. คำบรรยายเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 72 ปีการศึกษา 2562
#นักเรียนกฎหมาย
25 พฤศจิกายน 2562
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น