จำเลยได้รับเงินเดือนเกินสิทธิ หน่วยงานราชการมีสิทธิติดตามทรัพย์สินคืนโดยไม่มีอายุความ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1259/2564)
การจ่ายเงินเดือนจากเงินงบประมาณแผ่นดิน หน่วยงานราชการจะต้องเบิกจ่ายให้ถูกต้องตามระเบียบ หากมีการจ่ายเกินไป ก็ย่อมมีสิทธิติดตามเอาเงินงบประมาณแผ่นดินคืนได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ลูกจ้างผู้ได้รับเงินเกินสิทธิ จะต่อสู้ว่าได้รับเงินในฐานลาภมิควรได้ ตามมาตรา 406 ไม่ได้ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1259/2564
มาตรา 406 บัญญัติว่า "บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดเพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดี หรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสียเปรียบไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นจำต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา อนึ่ง การรับสภาพหนี้สินว่ามีอยู่หรือหาไม่นั้น ท่านก็ให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้ด้วย
บทบัญญัติอันนี้ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงกรณีที่ได้ทรัพย์มา เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมิได้มีได้เป็นขึ้น หรือเป็นเหตุที่ได้สิ้นสุดไปเสียก่อนแล้วนั้นด้วย"
มาตรา 419 บัญญัติว่า "ในเรื่องลาภมิควรได้นั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น"
คดีนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นหน่วยงานราชการ ได้จัดระบบลูกจ้างใหม่ตามแนวทางของกระทรวงการคลัง แต่ดำเนินการไม่ถูกต้อง เป็นเหตุให้มีการจ่ายค่าจ้างและเลื่อนขั้นค่าจ้างให้แก่จำเลยไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยจ่ายเงินสูงกว่าความถูกต้อง เกินความจริงที่จำเลยมีสิทธิได้รับ รวม 97,035 บาท
การเบิกจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินนั้น ต้องเบิกจ่ายตามที่หน่วยงานของบประมาณแผ่นดินมาใช้ประจำปี เมื่อจำเลยเป็นพนักงานของราชการ ที่ได้รับเงินงบประมาณเป็นเงินเดือน รวมทั้งเงินตอบแทนหรือเงินรางวัลดังกล่าว ก็เป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของแผ่นดิน ย่อมเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของกฎหมายอย่างถูกต้องตามสิทธิที่จะได้รับ จำเลยจะยกข้ออ้างว่า โจทก์จ่ายเงินให้จำเลยไปเกินสิทธิที่จำเลยจะได้รับ ทำให้เงินนั้นเป็นลาภมิควรได้ของจำเลยไปนั้น จึงเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ชอบไม่เป็นไปตามกฎหมาย
การเบิกจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินนั้น ต้องเบิกจ่ายตามที่หน่วยงานของบประมาณแผ่นดินมาใช้ประจำปี เมื่อจำเลยเป็นพนักงานของราชการ ที่ได้รับเงินงบประมาณเป็นเงินเดือน รวมทั้งเงินตอบแทนหรือเงินรางวัลดังกล่าว ก็เป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของแผ่นดิน ย่อมเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของกฎหมายอย่างถูกต้องตามสิทธิที่จะได้รับ จำเลยจะยกข้ออ้างว่า โจทก์จ่ายเงินให้จำเลยไปเกินสิทธิที่จำเลยจะได้รับ ทำให้เงินนั้นเป็นลาภมิควรได้ของจำเลยไปนั้น จึงเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ชอบไม่เป็นไปตามกฎหมาย
โจทก์ย่อมใช้สิทธิติดตามเอาเงินงบประมาณแผ่นดินที่นำไปจ่ายให้จำเลยเกินสิทธิที่จะได้รับได้ และเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความ ที่จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยได้รับเงินเกินสิทธิในฐานลาภมิควรได้ ซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 จึงฟังไม่ขึ้น
ที่มา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1259/2564. เนติบัณฑิตยสภา, หนังสือคำพิพากษาฎีกา ประจำพุทธศักราช 2564 ตอนที่ 1, หน้า 139 - 145
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1336 บัญญัติว่า "ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย"มาตรา 406 บัญญัติว่า "บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดเพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดี หรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสียเปรียบไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นจำต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา อนึ่ง การรับสภาพหนี้สินว่ามีอยู่หรือหาไม่นั้น ท่านก็ให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้ด้วย
บทบัญญัติอันนี้ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงกรณีที่ได้ทรัพย์มา เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมิได้มีได้เป็นขึ้น หรือเป็นเหตุที่ได้สิ้นสุดไปเสียก่อนแล้วนั้นด้วย"
มาตรา 419 บัญญัติว่า "ในเรื่องลาภมิควรได้นั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น"
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น