สัญญาจ้างแรงงานไม่ต้องทำเป็นหนังสือ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1983/2564)


สัญญาจ้างแรงงาน กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือเท่านั้น ซึ่งคดีนี้ศาลฎีกาได้อธิบายความหมายของสัญญาจ้างแรงงาน และพฤติการณ์ที่ก่อให้เกิดสัญญาขึ้น โดยวินิจฉัยว่า

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ไม่ได้บัญญัติว่า สัญญาจ้างแรงงานต้องทำเป็นหนังสือเท่านั้น สัญญาจ้างแรงงานย่อมเกิดขึ้นได้ เมื่อมีการแสดงเจตนาทำคำเสนอคำสนองถูกต้องตรงกัน โดยฝ่ายหนึ่งตกลงทำงานและอีกฝ่ายหนึ่งตกลงจ่ายสินจ้างหรือค่าตอบแทนการทำงานตลอดระยะเวลาที่ทำงานให้

เมื่อปรากฏว่า โจทก์ยื่นใบสมัครงานต่อจำเลย ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล และระบุเงินเดือนที่ต้องการ ใบสมัครงานเป็นการแสดงเจตนาทำคำเสนอ

ส่วนการที่จำเลยสัมภาษณ์งานโจทก์ โดยมีผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลของจำเลยร่วมสัมภาษณ์ เมื่อโจทก์ผ่านการสัมภาษณ์รอบแรก และได้รับแบบทดสอบจากจำเลย เมื่อโจทก์ทำแบบทดสอบเสร็จแล้ว ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลนำแบบทดสอบไปให้ ภ. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย แล้วนำโจทก์ไปที่ห้องสัมภาษณ์อีกครั้งหน่ง มี ภ. กับผู้จัดการโรงงานในเครือของจำเลยเข้าร่วมรับฟังอยู่ด้วย จนกระทั่ง ภ. เขียนข้อความในใบสมัครงานของโจทก์ด้วยตนเอง ระบุรายละเอียดเรื่องตำแหน่งงาน อัตราค่าจ้าง ค่าน้ำมัน ค่าทางด่วนที่เอาใบเสร็จมาเบิกตามจริง ค่าโทรศัพท์ ค่าสึกหรอกรณีใช้รถยนต์ส่วนตัว และวันเริ่มทำงาน ทั้งมีการลงลายมือชื่อ ภ. กรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยในช่องผู้มีอำนาจอนุมัติ ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลย ที่สนองรับโจทก์เข้าทำงาน และตกลงจะให้สินจ้างตลอดระยะเวลาการทำงานแล้ว ถือได้ว่าเป็นคำสนองของจำเลยที่ถูกต้องตรงกับคำเสนอของโจทก์ ก่อให้เกิดสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลย และมีผลบังคับตั้งแต่วันที่จำเลยสัมภาษณ์งานโจทก์แล้ว 

ที่มา 
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1983/2564. เนติบัณฑิตยสภา, หนังสือคำพิพากษาฎีกา ประจำพุทธศักราช 2564 ตอนที่ 3, หน้า 671 - 683

- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
   มาตรา 575 บัญญัติว่า "อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้"

- พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
   มาตรา 5 บัญญัติว่า "ในพระราชบัญญัตินี้
   "สัญญาจ้าง" หมายความว่า สัญญาไม่ว่าเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาระบุชัดเจน หรือเป็นที่เข้าใจโดยปริยาย ซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทํางานให้แก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ทํางานให้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542