ค่าเสียหายจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1347/2564)
การกำหนดจำนวนค่าเสียหาย จากการทำลายหรือทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสียหายในเรื่องนี้ เป็นประเด็นหนึ่งจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1347/2564
คดีนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยื่นฟ้องว่าจำเลยบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินภายในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า โดยทำการปรับพื้นที่ใช้เครื่องจักรขุดร่องน้ำ ยกคัน ปลูกไม้ยืนต้นจำนวนมากหลายชนิด มิใช่พันธุ์ไม้ตามธรรมชาติ และมีบ้านพัก 1 หลัง เป็นการทำลาย ทำให้เสียหาย หรือเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ จึงต้องรับผิดตามมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 คิดเป็นมูลค่าความเสียหายไร่ละ 78,202 บาท รวมเป็นเงิน 11,496,280.51 บาท พร้อมดอกเบี้ย
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทยังมีสภาพเป็นทุ่งหญ้าและคูน้ำ อันเป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเช่นเดียวกับสภาพก่อนที่มีการบุกรุก และทางนำสืบไม่ปรากฏว่าพื้นที่ทุ่งหญ้าและคูน้ำมีเนื้อที่จำนวนเท่าใด เกิดความเสียหายหรือส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์โดยตรง และการใช้ประโยชน์โดยอ้อม ซึ่งเป็นฐานในการกำหนดมูลค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมทั้งหมดหรือบางส่วนเพียงใด
เมื่อที่ดินพิพาทบางส่วนยังมีสภาพเดิมอยู่ และไม่อาจทราบได้แน่นอนว่ามีเนื้อที่จำนวนเท่าใด อีกทั้งในพื้นที่พิพาทมิได้มีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ หรือโรงงานอุตสาหกรรม หรือมีการทำการเกษตรในลักษณะที่มีการทำลายสิ่งแวดล้อมให้เสียหายผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติที่มีอยู่เดิม
ดังนั้น การเรียกค่าเสียหายไร่ละ 78,202 บาท เท่ากับมูลค่าที่เกิดจากการใช้ประโยชน์โดยตรง และการใช้ประโยชน์โดยอ้อมของพื้นที่บริเวณที่ดินพิพาททั้งหมด จึงเป็นจำนวนที่สูงเกินไป ซึ่งตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 97 ก็ไม่ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าเสียหายไว้โดยละเอียด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 กำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 3,000,000 บาท เป็นค่าเสียหายที่สมควรแล้ว
จากคำพิพากษาดังกล่าว จะเห็นได้ว่า นอกจากการนำสืบจะมีความสำคัญต่อผลคดีแล้ว การแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ความเสียหายที่ชัดเจน ก็จะทำให้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ที่มา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1347/2564. เนติบัณฑิตยสภา, หนังสือคำพิพากษาฎีกา ประจำพุทธศักราช 2564 ตอนที่ 2
- พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
ที่มา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1347/2564. เนติบัณฑิตยสภา, หนังสือคำพิพากษาฎีกา ประจำพุทธศักราช 2564 ตอนที่ 2
- พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
มาตรา 97 บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำ หรือละเว้นการกระทำด้วยประการใด โดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลาย หรือทำให้สูญหาย หรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นของรัฐหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐ ตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น"
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น