สรุปความรู้จากการสัมมนา เรื่อง การนำกระบวนการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทมาใช้ในคดีปกครอง
เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมสัมมนา เรื่อง การนำกระบวนการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทมาใช้ในคดีปกครอง จัดโดยสำนักงานศาลปกครอง โดยท่านวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ 2 ท่าน คือ ท่านบุญอนันต์ วรรณพานิชย์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด และท่านเอกณัฐ จิณเสน ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง ผมจึงได้สรุปความรู้ที่ได้จากการสัมมนาดังกล่าว เพื่อเป็นแนวทางต่อยอดความรู้ด้านการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองสำหรับผู้ที่สนใจครับ
**********************************
สรุปความรู้จากการสัมมนา
เรื่อง การนำกระบวนการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทมาใช้ในคดีปกครอง ครั้งที่ 2
วิทยากร ท่านบุญอนันต์ วรรณพานิชย์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด และ
ท่านเอกณัฐ จิณเสน ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง
จัดโดยสำนักงานศาลปกครอง เมื่อวันอังคารที่ 7 กันยายน 2564 เวลา 08.30 - 12.00 น.
ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ โปรแกรม Cisci Webx Meetings
**********************************
ระบบศาลยุติธรรม มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาเป็นเวลานาน ทั้งคดีแพ่ง และคดีอาญาบางประเภท แต่สำหรับคดีปกครอง ถือเป็นเรื่องใหม่ โดยเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจาราคดีปกครอง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้การบริหารจัดการคดีของศาลปกครองมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มขึ้นด้วยกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และต่อมาได้มีการประกาศใช้ ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง พ.ศ. 2562
การสัมมนาวันนี้ ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญ 5 ข้อ ได้แก่
1. การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง คืออะไร
2. ทำไมต้องไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีปกครอง
3. หลักการสำคัญของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีปกครอง
4. ประเภทคดีที่ยอมรับให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
5. กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
1. การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง คืออะไร
การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง เป็นวิธีการระงับข้อพิพาทในชั้นศาลปกครองด้วยความสมัครใจของคู่กรณี โดยผู้ไกล่เกลี่ยที่เป็นกลาง ภายใต้กรอบของกฎหมาย
2. ทำไมต้องไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีปกครอง
เหตุผลที่ต้องนำวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาใช้ในคดีปกครอง เนื่องจากการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีปกครอง มีวิธีการที่เรียบง่าย ภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว ซึ่งปกติการดำเนินคดีในชั้นจะใช้เวลานาน บางคดีอาจเป็นเวลาหลายปี เป็นไปตามความต้องการที่แท้จริงของคู่กรณี มีผลบังคับทางกฎหมายได้จริง และเป็นการรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างคดีกรณี
3. หลักการสำคัญของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีปกครอง
3.1 การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภายใต้หลักความชอบด้วยกฎหมาย ประกอบด้วย
1) มีกฎหมายรับรองอย่างชัดแจ้ง ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจาราคดีปกครอง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2562 และระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง พ.ศ. 2562
2) กำหนดหลักการรองรับให้ฝ่ายปกครองเข้าร่วมกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ (มาตรา 66/2 วรรคสอง) คณะรัฐมนตรีอาจกำหนดหลักเกณฑ์ให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นคู่กรณี ต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังหรือหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลตามกฎหมายก็ได้ในกรณีที่เป็นการไกล่เกลี่ยเกี่ยวกับเงินหรือทรัพย์สิน
3) ผลของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท มีผลบังคับทางกฎหมาย โดยคำพิพากษาของศาล (มาตรา 66/10 และระเบียบฯ ข้อ 32) กำหนดให้ศาลมีคำพิพากษาทั้งกรณีที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จทั้งหมดและสำเร็จบางส่วน
4) มีบทบัญญัติที่กำหนดกรอบของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เพื่อให้เป็นไปตามหลักความชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 66/3) เช่น ต้องไม่มีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนหรือต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
5) การกำหนดกลไกกลั่นกรอง เพื่อให้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย (ระเบียบฯ ข้อ 13 ข้อ 14 ข้อ 15 ข้อ 32 และข้อ 33) มีการตรวจสำนวนและคำขอให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทซึ่งจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม และผู้รับผิดชอบราชการศาลเห็นว่าเป็นกรณีที่สมควรให้มีการไกล่เกลี่ยได้ ตลอดจนมีการตรวจสอบผลการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทซึ่งคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องไม่มีการฉ้อฉล เป็นต้น
3.2 ความสมัครใจของคู่กรณี
1) ความสมัครใจที่จะริเริ่มให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (มาตรา 66/4 วรรคหนึ่ง ระเบียบฯ ข้อ 12 ข้อ 13 วรรคหนึ่ง) คู่กรณีอาจร่วมกันยื่นคำขอต่อศาล หรือคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจยื่นคำขอให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ ตั้งแต่มีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองจนถึงวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง
2) ความสมัครใจที่จะเข้าร่วมกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (ระเบียบฯ ข้อ 14 วรคหนึ่ง) คู่กรณีที่พิพาทกันมากกว่าหนึ่งฝ่าย แสดงความตกลงหรือยินยอมให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
3) ความสมัครใจที่จะไม่ให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่อไป (มาตรา 66/9 (3)) หากคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ประสงค์ให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่อไป มีผลทำให้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสิ้นสุดลง
4) ความสมัครใจที่จะยอมรับผลของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (มาตรา 66/10 ระเบียบฯ ข้อ 31 วรรคหนึ่งและวรรคสอง) คู่กรณีร่วมกันทำบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นหนังสือ โดยลงลายมือชื่อต่อหน้าผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
3.3 ความไว้วางใจของคู่กรณี
1) การยึดถือความไว้วางใจของคู่กรณีที่มีต่อกัน (ระเบียบฯ ข้อ 7) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ต้องดำเนินการโดยยึดถือความสมัครใจและความไว้วางใจของคู่กรณีที่มีต่อกัน
2) การคุ้มครองไม่ให้เปิดเผยหรืออ้างอิงข้อมูลที่เกิดขึ้นในกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (มาตรา 66/8) เป็นมาตราสำคัญ*** ที่ให้การคุ้มครองมิให้มีการเปิดเผยหรืออ้างอิงข้อมูลกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
3) การให้คู่กรณีร่วมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้วยตนเอง (ระเบียบฯ ข้อ 27) เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่น คู่กรณีอาจมอบตัวแทนหรือผู้แทนที่มีอำนาจตัดสินใจและมีอำนาจทำความตกลงร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแทนได้
4) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่อหน้าคู่กรณี (ระเบีบบฯ ข้อ 28) ผู้ไกล่เกลี่ยต้องดำเนินการต่อหน้าคู่กรณีทุกฝ่าย เว้นแต่เพื่อประโยชน์ในการไกล่เกลี่ย อาจกำหนดให้เฉพาะคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่ง อยู่ในการไกล่เกลี่ยในช่วงเวลาหนึ่งเป็นการชั่วคราวก็ได้
3.4 หลักความเป็นกลางในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
1) ความเป็นกลางของศาล (ระเบียบฯ ข้อ 10) ศาลต้องดำเนินการด้วยความเป็นกลาง และปราศจากอคติในการปฏิบัติหน้าที่
2) บุคคลที่ทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
2.1) คุณสมบัติของผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (มาตรา 66/4) ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจะต้องเป็นตุลาการศาลปกครองซึ่งไม่มีหน้าที่รับผิดชอบคดีในสำนวนคดีนั้น
2.2) การคัดค้านและการถอนตัว (มาตรา 66/6 ระเบียบฯ ข้อ 19 วรรคสอง ข้อ 20 ข้อ 21 และข้อ 22)
3) การทำหน้าที่ของผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (มาตรา 66/6 วรรคหนึ่ง ระเบียบฯ ข้อ 8 ข้อ 26 ข้อ 28 ข้อ 31 วรรคสอง มาตรา 66/9 (4) ข้อ 34) ผู้ไกล่เกลี่ยต้องวางตนเป็นกลาง และปราศจากอคติในการปฏิบัติหน้าที่ การไกล่เกลี่ยจะต้องไม่เป็นการสร้างหรือเพิ่มความขัดแย้งหรือความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างคู่กรณี ก่อนเริ่มทำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจะต้องแจ้งคู่กรณีให้ทราบแนวทาง ขั้นตอน ระยะเวลา สิทธิและหน้าที่ของคู่กรณี และบทบาทหน้าที่ของผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
3.5 ความมีประสิทธิภาพของการพิจารณาคดีและการบริหารจัดการคดี
1) การส่งเสริมให้ฝ่ายปกครองเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง (มาตรา 66/2) กฎหมายกำหนดให้คณะรัฐมนตรีอาจกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมได้
2) การให้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมีระยะเวลาที่กระชับและชัดเจน (มาตรา 66/5 ระเบียบฯ ข้อ 9 ข้อ 24) ซึ่งต้องไม่เกิน 90 วัน นับแต่วันนัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทครั้งแรก
3) การไม่ให้กระทบในทางเสียหายต่อการพิจารณาพิพากษาคดี (มาตรา 66/5 ระเบียบฯ ข้อ 9 ข้อ 11 มาตรา 66/9 ข้อ 34 มาตรา 66/7 มาตรา 66/11) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ต้องไม่ทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีล่าช้าออกไปโดยไม่สมควร ไม่ให้มีการประวิงหรือเป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาพิพากษาคดี และโดยหลักไม่อาจอุทธรณ์แนวทาง ความเห็นชอบ คำสั่ง หรือการกระทำใดที่กระทำลงในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้
4) การให้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทดำเนินไปโดยเรียบร้อย (ระเบียบฯ ข้อ 30) ผู้รับผิดชอบราชการศาล อาจออกข้อกำหนดทั่วไปเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในศาลนั้น
4. ประเภทคดีที่ยอมรับให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท คดีปกครองที่สามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้มี 4 ประเภท คือ
4.1 คดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
4.2 คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่น ของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
4.3 คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
4.4 คดีพิพาทอื่นตามที่กำหนดในระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
กรณีที่ห้ามมิให้มีการไกล่เกลี่ย 8 ลักษณะ
1) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เป็นการฝ่าฝืนหรือต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย
2) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
3) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่มีผลกระทบต่อสถานะของบุคคลหรือมีผลกระทบในทางเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ
4) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อการบังคับใช้กฎหมาย
5) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่อยู่นอกเหนือสิทธิ อำนาจหน้าที่ หรือความสามารถของคู่กรณี
6) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ตามมาตรา 11 (1)
7) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทที่กฎหมายกำหนดให้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด
8) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่มีลักษณะอื่นตามที่กำหนดในระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
5. กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง ไม่เคร่งครัดในรูปแบบหรือพิธีการ รวดเร็วและต่อเนื่อง มีการกลั่นกรองให้เกิดความมั่นใจและถูกต้อง และการกระทำในกระบวนการไกล่เกลี่ยไม่อาจอุทธรณ์ได้
การริเริ่มให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท อาจริเริ่มโดยคู่กรณียื่นคำขอ หรือศาลเห็นเองก็ได้ และเมื่อผู้รับผิดชอบราชการศาล เห็นชอบให้มีการไกล่เกลี่ย ก็จะมีการแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ย ซึ่งคือตุลาการศาลปกครองที่ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบในสำนวนคดีนั้น
ผลของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
1) ไกล่เกลี่ยสำเร็จ
1.1) สำเร็จทั้งหมด มีการทำบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอม และศาลมีคำพิพากษาตามยอม
1.2) สำเร็จบางส่วน มีการทำบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอม และศาลมีคำพิพากษาในคดี รวมทั้งผลของการไกล่เกลี่ยด้วย
2) ไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ ศาลจะพิจารณาคดีต่อไปและมีคำพิพากษาตามกระบวนพิจารณาปกติ
ที่มา / คลิกดาวน์โหลดไฟล์
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น