ข้อกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา


พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 64 บัญญัติให้นักเรียนและนักศึกษาต้องประพฤติตนตามระเบียบของโรงเรียนหรือสถานศึกษาและตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อปี พ.ศ. 2548 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจึงออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา ไว้ 9 ข้อ ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2562 มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยกำหนดพฤติการณ์ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ว่านักเรียนและนักศึกษาจะต้องไม่ประพฤติตนดังนี้

1. หนีเรียน หรือออกนอกสถานศึกษาโดยไม่ได้รับอนุญาตในช่วงเวลาเรียน
2. เล่นการพนัน จัดให้มีการเล่นการพนัน หรือมั่วสุมในวงการพนัน
3. พกพาอาวุธหรือวัตถุระเบิด
4. ซื้อ จำหน่าย แลกเปลี่ยน เสพสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งมึนเมา บุหรี่ หรือยาเสพติด
5. ลักทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ ข่มขู่ หรือบังคับขืนใจเพื่อเอาทรัพย์บุคคลอื่น
6. ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายผู้อื่น เตรียมการหรือกระทำการใด ๆ อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรวมกลุ่มหรือมั่วสุมเพื่อกระทำการดังกล่าว
    (กฎกระทรวงฉบับแรก กำหนดความประพฤติไว้แต่เพียง การก่อเหตุทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายผู้อื่น เตรียมการหรือกระทำการใด ๆ อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยกฎกระทรวงฉบับที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติมถึงกรณีการรวมกลุ่มหรือมั่วสุมเพื่อกระทำการดังกล่าวด้วย)
7. แสดงพฤติกรรมทางชู้สาวอันไม่เหมาะสม กระทำการลามกอนาจาร แต่งกายล่อแหลมหรือไม่เรียบร้อยในโรงเรียนหรือสถานศึกษา หรือแต่งเครื่องแบบนักเรียนหรือนักศึกษาไม่เรียบร้อย
    (แต่เดิมกำหนดความประพฤติในข้อนี้ โดย "แสดงพฤติกรรมทางชู้สาวซึ่งไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ" แต่ปัจจุบันการแสดงพฤติกรรมทางชู้สาวอันไม่เหมาะสมนี้ กำหนดขอบเขตไว้ภายในโรงเรียนหรือสถานศึกษาเท่านั้น ไม่รวมถึงในที่สาธารณะ นอกจากนี้ได้เพิ่มเติมพฤติกรรมลามกอนาจารและการแต่งกายล่อแหลมหรือไม่เรียบร้อยในโรงเรียนหรือสถานศึกษา หรือแต่งเครื่องแบบไม่เรียบร้อย)
8. เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี
9. เที่ยวเตร่นอกสถานที่พัก รวมกลุ่ม หรือมั่วสุมอันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น

    (กฎกระทรวงฉบับแรก กำหนดการออกนอกสถานที่พักเวลากลางคืน เพื่อเที่ยวเตร่หรือรวมกลุ่ม อันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น ปัจจุบันจึงรวมทั้งเวลากลางวันและกลางคืน)

นอกจากข้อกำหนดความประพฤติทั้ง 9 ข้อนี้แล้ว โรงเรียนหรือสถานศึกษามีอำนาจกำหนดระเบียบว่าด้วยความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาเพิ่มเติมได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงนี้

นักเรียนและนักศึกษาจะต้องปฏิบัติตามระเบียบของโรงเรียนหรือสถานศึกษา หากฝ่าฝืนพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการตามระเบียบและนำตัวไปมอบแก่ผู้บริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษา เพื่อสอบถามและอบรมสั่งสอนหรือลงโทษตามระเบียบ และแจ้งผู้ปกครองว่ากล่าวตักเตือนหรือสั่งสอนเด็กอีกครั้ง นอกจากนี้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสอบถามครู อาจารย์ หรือหัวหน้าสถานศึกษาเกี่ยวกับความประพฤติ การศึกษา นิสัยและสติปัญญาของเด็กหรือเรียกผู้ปกครองมาว่ากล่าวตักเตือน หรือทำทัณฑ์บนว่าจะปกครองดูแลมิให้นักเรียนฝ่าฝืนข้อกำหนดความประพฤติได้ และกรณีที่บุคคลใดยุยง ส่งเสริม ช่วยเหลือ หรือสนับสนุนให้นักเรียนหรือนักศึกษาฝ่าฝืนมาตรา 64 จะต้องรับผิดทางอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา / ดาวน์โหลดไฟล์
- พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
- กฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548
- กฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

ความคิดเห็น

  1. ไม่ระบุชื่อ28 พฤษภาคม 2565 เวลา 10:00

    มันนอกเวลาเรียนก็ควรปล่อยเถอะโลกมันไปถึงไหนแล้ว

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณครับ ข้อกำหนดบางข้อ ต้องมีการแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมต่อไปครับ

      ลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ1 พฤษภาคม 2566 เวลา 14:33

    อยู่เอกชนจะไม่มีปัญหาเรื่องนี้เลย

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542