สรุปคำบรรยาย กฎหมายล้มละลาย (ครั้งที่ 6)
วิชากฎหมายล้มละลาย LAW3010
ครั้งที่ 6 :: วันที่ 24 เมษายน 2562 ภาคเรียน summer/2561
บรรยายโดยท่านอาจารย์ ภัทรวรรณ ทองใหญ่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
เนื้อหาในส่วนที่อาจารย์จะบรรยาย และเป็นข้อสอบ 1 ข้อ
1. การขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
2. การหลุดพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย
2.1 การประนอมหนี้หลังล้มละลาย
2.2 การปลดจากล้มละลาย
2.3 การยกเลิกการล้มละลาย
3. ภาพรวมของกฎหมายฟื้นฟูกิจการ
สรุป กระบวนการประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย
ในคดีล้มละลายจะมีกระบวนการหนึ่งที่เรียกว่าการประนอมหนี้ คือ การที่ลูกหนี้ขอทำความตกลงเรื่องของหนี้สินกับบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย โดยขอชำระหนี้แต่เพียงบางส่วนหรือขอชำระหนี้ด้วยวิธีการอื่น กฎหมายล้มละลายพยายามจะหาทางออกซึ่งเป็นทางสายกลางให้กับบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายที่อยากได้รับชำระหนี้ของตน ในขณะที่ตัวลูกหนี้เองมีปัญหาทางการเงิน มีหนี้สินล้มพ้นตัวหรือว่ามีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ลูกหนี้จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายทุกคนได้ครบเต็มจำนวน 100% กฎหมายเลยหาทางออกสายกลาง คือ การให้ลูกหนี้ได้เสนอคำขอประนอมหนี้
โดยในคดีล้มละลาย การประนอมหนี้จะมีด้วยกัน 2 ระยะ คือ การประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย และการประนอมหนี้หลังล้มละลาย ซึ่งกระบวนการจะเชื่อมโยงกันหมด ไม่ได้เรียงมาตรา โดยเริ่มจากจุดที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (มาตรา 14) ลูกหนี้ยื่นคำขอประนอมหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (มาตรา 45 + มาตรา 30 (2)) (เป็นสิทธิของลูกหนี้ กฎหมายไม่ได้บังคับให้ลูกหนี้ยื่นคำขอประนอมหนี้) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็จะเรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก (มาตรา 45 วรรคท้าย + มาตรา 31) ว่าจะยอมรับคำขอประนอมหนี้หรือจะขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย โดยใช้มติพิเศษ
ถ้ามติพิเศษไม่ยอมรับในคำขอประนอมหนี้ ศาลจะพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย หรือมติพิเศษยอมรับในคำขอประนอมหนี้ ยังไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหลาย จนกว่าศาลจะเห็นชอบด้วย ถ้าศาลไม่เห็นชอบ
มาตรา 61
เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า
1. เจ้าหนี้ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก (มาตรา 31) หรือในคราวที่ได้เลื่อนไป ขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ดี หรือ
2. ไม่ลงมติประการใดก็ดี + รวมถึงลงมติแล้วแต่ไม่ได้มติพิเศษ หรือ
3. ไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมก็ดี หรือ
4. การประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบก็ดี (ไม่ได้รับความเห็นชอบจากศาล)
ให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายเพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย
ดังนั้น การประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ยื่นได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น
ผลของการที่ศาลเห็นชอบกับคำขอประนอมหนี้
1. ผลต่อตัวลูกหนี้
- ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้สินเดิม และผูกพันตามข้อตกลงในการประนอมหนี้
- ถ้าชำระหนี้ครบตามคำขอประนอมหนี้ ลูกหนี้จะหลุดพ้นจากหนี้สินทั้งหมดและไม่ต้องถูกพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย โดยลูกหนี้สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งยกเลิกการล้มละลาย ตามมาตรา 135 (3)
- ถ้าชำระหนี้ไม่ครบตามคำขอประนอมหนี้ ถือเป็นเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้ และศาลจะต้องพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายเท่านั้น ตามมาตรา 60
2. ผลต่อบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย (มาตรา 56)
- คำว่า "ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้" คือ เจ้าหนี้ทุกคนของลูกหนี้ไม่ว่าจะมาประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกหรือไม่ก็ตาม แม้จะเป็นเจ้าหนี้ฝ่ายข้างน้อยที่ไม่ยอมรับคำขอประนอมหนี้ ทั้งนี้มูลแห่งหนี้ต้องเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ (มาตรา 94)
- เมื่อผูกมัดเจ้าหนี้แล้ว คำถามต่อมาคือจะผูกมัดอย่างไร ก็คือ หากเจ้าหนี้มายื่นขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย เจ้าหนี้จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามสัดส่วนที่ลูกหนี้ขอประนอมหนี้ แต่ถ้าเจ้าหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ไม่มายื่นขอรับชำระหนี้ ก็จะถูกผูกมัดโดยจะนำมูลหนี้ดังกล่าวไปฟ้องร้องให้ลูกหนี้รับผิดอีกไม่ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 177/2532 และที่ 1001/2509)
- ข้อยกเว้น คำขอประนอมหนี้ที่ศาลเห็นชอบ ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ 2 ประเภท ตามมาตรา 77 เจ้าหนี้ตามมาตรา 77 ยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน เว้นแต่จะได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้นั้น
- ตัวอย่าง คดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง เมื่อลูกหนี้มาขอประนอมหนี้ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ 50% และศาลสั่งเห็นชอบด้วยแล้ว เจ้าหนี้ที่มาขอรับชำระหนี้ต่อไปนี้ถูกผูกมัดเพียงใด
-- นาย ก. ขอรับชำระหนี้เงินกู้ 1 ล้านบาท
-- นาย ข. ขอรับชำระหนี้เงินกู้ 2 ล้านบาท
-- กรมสรรพากร ขอรับชำระหนี้ภาษีอากร 1 ล้านบาท ข้อเท็จจริงปรากฏว่ากรมสรรรพากรไม่ยินยอมด้วยในการขอประนอมหนี้ของลูกหนี้
-- นาย ค. ไม่ได้ยื่นขอรับชำระหนี้
คำตอบ ประนอมหนี้ 50% นาย ก. จะมีสิทธิได้รับ 5 แสนบาท , นาย ข. มีสิทธิได้รับ 1 ล้านบาท ส่วนกรมสรรพากรมีสิทธิได้รับชำระหนี้ 1 ล้านบาท เต็มจำนวน , ส่วนนาย ค. จะนำหนี้ไปฟ้องเป็นคดีแพ่งอีกไม่ได้
3. ผลต่อบุคคลภายนอกที่ต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้ (มาตรา 59) บุคคลภายนอกไม่ได้ถูกฟ้องล้มละลาย
- การประนอมหนี้มีผลเฉพาะตัวลูกหนี้เท่านั้นที่จะหลุดพ้นจากหนี้เดิม และมาผูกพันตามข้อตกลงในคำขอประนอมหนี้
- บุคคลภายนอกยังไม่หลุดพ้นจากการประนอมหนี้ เช่น หนี้ 3 ล้าน ลูกหนี้ขอประนอมหนี้ 2.4 ล้าน ชำระครบ ลูกหนี้หลุดพ้น แต่ผู้ค้ำประกันไม่ได้รับประโยชน์จากข้อตกลง ยังต้องรับผิดในหนี้ที่เหลืออีก 6 แสน ที่ต้องชำระให้แก่เจ้าหนี้
4. ผลต่อคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (ไม่ได้อยู่ในตัวบท แต่เป็นแนวคำพิพากษาศาลฎีกา)
เมื่อศาลเห็นชอบด้วยกับคำขอประนอมหนี้ จะส่งผลให้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดถูกยกเลิกเพิกถอนไปทันที ศาลไม่ต้องสั่งยกเลิกอีก เพื่อให้ลูกหนี้กลับมามีอำนาจในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของตนได้ และจะได้ดำเนินการชำระหนี้ตามสัดส่วนที่ขอประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2649/2541)
5. ผลต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หมดอำนาจในการจัดการกิจการและทรัพย์สินแทนลูกหนี้ เว้นแต่ในกิจการบางอย่างตามที่ระบุไว้ในคำขอประนอมหนี้ที่ยังคงให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการ เช่น ในคำขอประนอมหนี้ระบุว่า ลูกหนี้ขอโอนทรัพย์สินตีใช้หนี้ให้กับเจ้าหนี้ทั้งหลาย โดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำหน้าที่นำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดและนำเงินที่ได้มาแบ่งเฉลี่ยให้แก่เจ้าหนี้
จากหลักซึ่งออกข้อสอบบ่อย*** คือ ถ้าลูกหนี้ผิดนัดข้อตกลงในการประนอมหนี้ หรือมีเหตุอย่างอื่นตามมาตรา 60 ศาลจะสั่งยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายเท่านั้น
เมื่อลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว จะหลุดพ้นจากการล้มละลายได้ 3 กรณี (ประนอมหนี้หลังล้มละลาย , ปลด , ยกเลิก) กรณีแรก การประนอมหนี้หลังล้มละลายตามมาตรา 63
"เมื่อศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว ลูกหนี้จะเสนอคำขอประนอมหนี้ก็ได้ ในกรณีนี้ให้นำบทบัญญัติของส่วนที่ 6 การประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ในหมวด 1 กระบวนพิจารณาตั้งแต่ขอให้ล้มละลายจนถึงปลดจากล้มละลาย มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าลูกหนี้ได้เคยขอประนอมหนี้ไม่เป็นผลมาแล้ว ห้ามมิให้ลูกหนี้ขอประนอมหนี้ภายในกำหนดเวลาหกเดือนนับแต่วันที่การขอประนอมหนี้ครั้งสุดท้ายไม่เป็นผล
การขอประนอมหนี้ตามวรรคหนึ่ง ไม่เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องเลื่อนหรืองดการจำหน่ายทรัพย์สิน เว้นแต่กรณีมีเหตุอันสมควรที่อาจเป็นประโยชน์แก่การขอประนอมหนี้
ถ้าศาลเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ ศาลมีอำนาจสั่งให้ยกเลิกการล้มละลาย และจะสั่งให้ลูกหนี้กลับมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนหรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้"
- การประนอมหนี้หลังล้มละลาย ลูกหนี้จะยื่นกี่ครั้งก็ได้ แต่ถ้าครั้งก่อนหน้านั้นไม่เป็นผล หากจะยื่นครั้งต่อไป ลูกหนี้ต้องเว้นวรรค 6 เดือน
- การไม่เป็นผลของคำขอประนอมหนี้ อาจเป็นเพราะที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่ยอมรับ ไม่ลงมติหรือไม่มาประชุม หรือศาลไม่เห็นชอบ หรือศาลสั่งยกเลิกการประนอมหนี้
---จบคำบรรยาย ครั้งที่ 6---
#นักเรียนกฎหมาย
27 เมษายน 2562
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น