สรุปคำบรรยาย กฎหมายล้มละลาย (ครั้งที่ 5)
สรุปคำบรรยาย
วิชากฎหมายล้มละลาย LAW3010
ครั้งที่ 5 :: วันที่ 22 เมษายน 2562 ภาคเรียน summer/2561
บรรยายโดยท่านอาจารย์นันทรัตน์ เตชะมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
คราวนี้เราจะมาดูมาตรา 45 แบบจริงจัง
การประนอมหนี้ก่อนละล้มละลาย
มาตรา 45 เมื่อลูกหนี้ประสงค์จะทำความตกลงในเรื่องหนี้สินโดยวิธีขอชำระหนี้แต่เพียงบางส่วนหรือโดยวิธีอื่น ให้ทำคำขอประนอมหนี้เป็นหนังสือยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินตามมาตรา 30 หรือภายในเวลาตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กำหนดให้
คำขอประนอมหนี้ต้องแสดงข้อความแห่งการประนอมหนี้ หรือวิธีจัดกิจการหรือทรัพย์สินและรายละเอียดแห่งหลักประกัน หรือผู้ค้ำประกัน ถ้ามี และอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
(1) ลำดับการชำระหนี้ตามพระราชบัญญัตินี้
(2) จำนวนเงินที่ขอประนอมหนี้
(3) แนวทางและวิธีการในการปฏิบัติตามคำขอประนอมหนี้
(4) กำหนดเวลาชำระหนี้
(5) การจัดการกับทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ถ้ามี
(6) ผู้ค้ำประกัน ถ้ามี
ถ้าคำขอประนอมหนี้มีรายการไม่ครบถ้วนชัดเจนตามวรรคสอง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งให้ลูกหนี้แก้ไขให้ครบถ้วนชัดเจน
ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อปรึกษาลงมติพิเศษว่าจะยอมรับคำขอประนอมหนี้นั้นหรือไม่
- ลูกหนี้ยื่นขอประนอมหนี้หรือไม่ก็ได้ กฎหมายไม่ได้กำหนดเป็นหน้าที่
- ขอก่อนศาลมีคำพิพากษาให้ล้มละลาย หรือ ขอภายใน 7 วัน นับแต่วันยื่นคำชี้แจงตามมาตรา 30 (2)
- คำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ขอได้เพียงครั้งเดียว
คำถาม มติพิเศษเห็นชอบให้ประนอมหนี้ จะผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดหรือไม่
คำตอบ คือ มาตรา 46 และมาตรา 56
มาตรา 46 การยอมรับคำขอประนอมหนี้โดยมติพิเศษของที่ประชุมเจ้าหนี้ยังไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหลาย จนกว่าศาลจะได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแล้ว
มาตรา 56 การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องหนี้ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ เว้นแต่เจ้าหนี้คนนั้นได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้
- มาตรา 46 ยังไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมด จนกว่าศาลจะเห็นชอบด้วย
- มาตรา 56 หลักทั่วไป จะผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ (มติพิเศษยอมรับ และศาลเห็นชอบ ก็จะผูกมัดเจ้าหนี้ที่มีหนี้ที่อาจขอรับชำระได้)
-- คำว่า "หนี้ที่อาจขอรับชำระได้" ให้ดูวันที่มูลหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์*** เนื่องจากหนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไม่ว่าชั่วคราวหรือเด็ดขาด ลูกหนี้ได้หมดอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของตนเองแล้ว ทำนิติกรรมสัญญาไม่ได้ นิติกรรมที่ทำขึ้นเป็นโมฆะ จะนำหนี้ที่เป็นโมฆะ มาขอรับชำระหนี้ไม่ได้
-- มูลหนี้เกิดตอนเช้า ลูกหนี้ทำนิติกรรมสมบูรณ์ ต่อมาช่วงบ่ายศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ถือว่ามูลหนี้ไม่ได้เกิดก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แต่มูลหนี้เกิดในวันเดียวกับที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
-- เจ้าหนี้คนที่จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ มีเงื่อนไข 2 ข้อ
1) มีหนี้ที่อาจขอรับชำระได้
2) ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้
***ถ้ามีหนี้ที่อาจขอรับชำระได้ ผูกมัดเจ้าหนี้ที่อาจขอรับชำระได้ ไม่ได้ดูว่าจะได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้หรือไม่ ดูเพียงว่า ต้องเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ คือ การประนอมหนี้จะผูกมัดเจ้าหนี้หรือไม่ ต้องดูว่าเจ้าหนี้คนนั้นมีหนี้ที่อาจขอรับชำระได้หรือไม่
-- เมื่อประนอมหนี้สำเร็จ หนี้เดิมเป็นอันระงับไป ทำให้เกิดหนี้ใหม่จากการประนอมหนี้ เช่น เดิมหนี้ 2 ล้านบาท ขอประนอมหนี้ 1.2 ล้านบาท ถ้ามติพิเศษยอมรับและศาลเห็นชอบ การประนอมหนี้ผูกมัดเจ้าหนี้ 1.2 ล้านบาท
-- คำว่า "หนี้ซึ่งลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายได้" คือ หนี้ตามมาตรา 77 (แม้ศาลจะปลดจากล้มละลายแล้ว ก็ไม่หลุดพ้น) คือ
1) หนี้ภาษีอากร ไม่หลุดพ้น
2) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยความทุจริตฉ้อโกงของลูกหนี้
--- เจ้าหนี้ตามมาตรา 77 เมื่อไม่ต้องผูกมัดจากมติพิเศษที่ประนอมหนี้ เจ้าหนี้ก็ยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิม เว้นแต่เจ้าหนี้ได้เข้าประชุมและยกมือยินยอมด้วยในการประนอมหนี้
สรุป ผลของคำสั่งเห็นชอบด้วยกับคำขอประนอมหนี้
1. คำสั่งศาลที่เห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ ผูกมัดเจ้าหนี้ทุกคน ถ้าเจ้าหนี้คนนั้นมีหนี้ที่อาจขอรับชำระได้ แต่คำขอประนอมหนี้ที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบ จะไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ตามมาตรา 77 เว้นแต่ เจ้าหนี้ตามมาตรา 77 ได้ยินยอมด้วย (มาตรา 56)
2. ผลต่อบุคคลซึ่งต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้ การประนอมหนี้มีผลเฉพาะตัวลูกหนี้เท่านั้นที่หลุดพ้นจากหนี้เดิมมาผูกพันตามคำขอประนอมหนี้ การประนอมหนี้ไม่มีผลถึงบุคคลภายนอก (มาตรา 59)
มาตรา 59 การประนอมหนี้ไม่ทำให้บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้หรือรับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือค้ำประกันหรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย
- มาตรา 59 บุคคลภายนอกคดี (ไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีล้มละลาย) ไม่ต้องผูกมัดในการประนอมหนี้ บุคคลภายนอกคดียังมีหน้าที่ต้องรับผิดในหนี้เดิม เช่น ก. เป็นหนี้ 2 ล้าน มีนาย ข. ค้ำประกัน 2 ล้าน ต่อมา ก. ถูกฟ้องในคดีล้มละลาย (ข. ไม่ถูกฟ้อง) ก.ขอประนอมหนี้ เหลือ 1.2 ล้าน มติพิเศษยอมรับและศาลเห็นชอบ 1.2 ล้าน ก. ลูกหนี้ ผูกพันในหนี้ใหม่ต่อเจ้าหนี้เพียง 1.2 ล้าน การประนอมหนี้ 1.2 ล้าน ไม่ผูกพัน ข. บุคคลภายนอกคดี หนี้ที่เหลืออีก 8 แสน ข. ผู้ค้ำประกัน มีหน้าที่ต้องรับผิดอยู่ (ค้ำประกันหนี้จำนวนไหน ต้องรับผิดจำนวนนั้น)
3. ลูกหนี้กลับมามีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของตนเองได้เท่าที่ไม่ขัดกับเงื่อนไขที่ได้ให้ไว้ในคำขอประนอมหนี้
- เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับคำขอประนอมหนี้ มีผลทำให้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดสิ้นผลไปทันที ลูกหนี้จึงมีอำนาจในการจัดการทรัพย์สิน จึงสามารถทำนิติกรรมได้ จึงหาเงินมาชำระตามที่ขอประนอมหนี้ได้
4. ในส่วนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จะหมดอำนาจในการจัดการทรัพย์สินแทนลูกหนี้
การยกเลิกการประนอมหนี้
มาตรา 60 ถ้าลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ก็ดี หรือปรากฏแก่ศาลโดยมีพยานหลักฐานว่า การประนอมหนี้นั้นไม่อาจดำเนินไปได้โดยปราศจากอยุติธรรมหรือจะเป็นการเนิ่นช้าเกินสมควรก็ดี หรือการที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยนั้นเป็นเพราะถูกหลอกลวงทุจริตก็ดี เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานหรือเจ้าหนี้คนใดมีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำไปแล้วตามข้อประนอมหนี้นั้น
เมื่อศาลได้พิพากษาดังกล่าวในวรรคก่อนแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำพิพากษาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ในคำโฆษณาให้ระบุชื่อ ตำบลที่อยู่ อาชีพของลูกหนี้ และวันที่ศาลได้มีคำพิพากษา ทั้งให้แจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสนอคำขอรับชำระหนี้ที่ลูกหนี้ได้กระทำขึ้นในระหว่างวันที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ถึงวันที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย
- เหตุที่ศาลจะยกเลิกการประนอมหนี้
1. ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้
2. ไม่ยุติธรรม หรือเนิ่นช้าเกินสมควร เช่น เจ้าหนี้แต่ละคนได้รับชำระไม่เท่ากันจึงมาขอให้ศาลยกเลิกการประนอมหนี้ เนื่องจากการประชุมเจ้าหนี้ เจ้าหนี้รายนี้คะแนนเสียงแต่แพ้โหวตและไม่ยุติธรรม
3. ศาลถูกหลอกลวงทุจริต
ผลของการยกเลิกการประนอมหนี้
1. เรื่องความรับผิดของลูกหนี้ ลูกหนี้จะต้องกลับไปชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิม ลูกหนี้จะอาศัยประโยชน์จากข้อตกลงในการประนอมหนี้อีกไม่ได้ เช่น ลูกหนี้ประนอมหนี้แล้ว จ่ายได้เพียงบางส่วน ถือว่าผิดนัดไม่ชำระหนี้ ถูกยกเลิกการประนอมหนี้ ลูกหนี้จะต้องกลับไปชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิม
2. การยกเลิกการประนอมหนี้ ไม่กระทบถึงการกระทำใดที่ได้กระทำไปแล้วตามข้อประนอมหนี้นั้น ตามมาตรา 60 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย
3. ทำให้ผู้ค้ำประกันการประนอมหนี้หลุดพ้นจากความรับผิด
4. เมื่อมีการยกเลิกการประนอมหนี้ ศาลต้องพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายเท่านั้น กฎหมายไม่เปิดช่องให้ศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น (มาตรา 61)
บุคคลล้มละลายจะหลุดพ้นจากการล้มละลาย (อาจารย์ภัทรวรรณ จะสอนต่อไป)
1. ประนอมหนี้หลังล้มละลาย มาตรา 63
2. ปลดจากล้มละลาย
- ตามคำสั่งศาล มาตรา 71
- อัตโนมัติ มาตรา 81/1
3. ยกเลิกการล้มละลาย มาตรา 135
***ขอบเขตสอบ ในส่วนของอาจารย์จะออกข้อสอบ 2 ข้อ แต่อาจารย์จะให้ขอบเขตประมาณ 4 ข้อ อาจารย์จะเลือกมาออก 2 ข้อ
1. มาตรา 8 (8) , (9) , มาตรา 9 มาตรา 10
ดูข้อเท็จจริงว่าเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ เป็นเจ้าหนี้มีประกัน (มาตรา 8 , 9 , 10) หรือเจ้าหนี้ไม่มีประกัน (มาตรา 8 , 9)
2. มาตรา 15
3. มาตรา 19 ท่องทั้ง 3 วรรค ไม่รู้อาจารย์จะออกวรรคไหน
4. มาตรา 31 , 33 , 36
ดูว่ามติชอบหรือไม่ชอบ
ครั้งหน้าเรียนกับอาจารย์ภัทรวรรณ
---จบคำบรรยาย ครั้งที่ 5---
#นักเรียนกฎหมาย
24 เมษายน 2562
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น