สรุปคำบรรยาย กฎหมายล้มละลาย (ครั้งที่ 4)


สรุปคำบรรยาย
วิชากฎหมายล้มละลาย LAW3010
ครั้งที่ 4 :: วันที่ 19 เมษายน 2562 ภาคเรียน summer/2561
บรรยายโดยท่านอาจารย์นันทรัตน์ เตชะมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ต่อจากคราวที่แล้ว หน้าที่ของบุคคลต่างๆ เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
1. หน้าที่ของเจ้าหนี้ 
ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ตามมาตรา 27 + มาตรา 91 (พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด) เจ้าหนี้จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ต่อเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเท่านั้น คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวจะยื่นขอรับชำระหนี้ยังไม่ได้ (หน้าที่ของเจ้าหนี้ จะเรียนกับอาจารย์ภัทรวรรณฯ)

2. หน้าที่ของลูกหนี้ 
หน้าที่ 1 ส่งมอบทรัพย์สิน ตามมาตรา 23 (พิทักษ์ทรัพย์)
   มาตรา 23 เมื่อลูกหนี้ได้รับทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ลูกหนี้ต้องส่งมอบทรัพย์สิน ดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารอันเกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการของตนซึ่งอยู่ในความครอบครองให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทั้งสิ้น
      - มาตรา 23 ใช้ทั้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวและคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อลูกหนี้ได้รับทราบคำสั่งแล้ว มีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์สินให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดการแทน เพราะลูกหนี้หมดอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของตนเอง ทำนิติกรรมสัญญาไม่ได้ หากทำจะมีผลเป็นโมฆะ

หน้าที่ 2 ยื่นคำชี้แจง ตามมาตรา 30 (พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด) 
   มาตรา 30 เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ลูกหนี้ต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้
   (1) ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ลูกหนี้ได้ทราบคำสั่งนั้น ลูกหนี้ต้องไปสาบานตัวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และยื่นคำชี้แจงตามแบบพิมพ์ว่า ได้มีหุ้นส่วนกับผู้ใดหรือไม่ ถ้ามีให้ระบุชื่อและตำบลที่อยู่ของห้างหุ้นส่วนและผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมด
      - ยื่นคำชี้แจงเรื่องหุ้นส่วน ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่วันที่ทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (ถ้าไม่มีหุ้นส่วน ก็ไม่ต้องยื่น)
   (2) ภายในเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ได้ทราบคำสั่งนั้น ลูกหนี้ต้องไปสาบานตัวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามแบบพิมพ์ แสดงเหตุผลที่ทำให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว สินทรัพย์และหนี้สิน ชื่อ ตำบลที่อยู่ และอาชีพของเจ้าหนี้ ทรัพย์สินที่ได้ให้เป็นประกันแก่เจ้าหนี้และวันที่ได้ให้ทรัพย์สินนั้น ๆ เป็นประกัน รายละเอียดแห่งทรัพย์สินอันจะตกได้แก่ตนในภายหน้า ทรัพย์สินของคู่สมรส ตลอดจนทรัพย์สินของบุคคลอื่นซึ่งอยู่ในความยึดถือของตน
      - ยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สิน ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
   ระยะเวลาตามมาตรานี้ เมื่อมีเหตุผลพิเศษ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจขยายให้ได้ตามสมควร
   ถ้าลูกหนี้ไม่อยู่หรือไม่สามารถทำคำชี้แจงตามมาตรานี้ได้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ทำแทน หรือช่วยลูกหนี้ในการทำคำชี้แจง แล้วแต่กรณี และเพื่อการนี้ให้มีอำนาจจ้างบุคคลอื่นเข้าช่วยตามที่เห็นจำเป็น โดยคิดหักค่าใช้จ่ายจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
      - มาตรา 30 อาจารย์อาจออกข้อสอบ
      - ดูรูปการนับวัน 24 ชั่วโมง และ 7 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ต้องนับตามตัวอย่างที่ 2 (ตัวอย่างที่ 1 จะนับผิด)

หน้าที่ 3 เสนอคำขอประนอมหนี้ ตามมาตรา 45 (พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด) การประนอมหนี้คือการขอชำระหนี้เพียงบางส่วนหรือขอชำระโดยวิธีอื่น
   มาตรา 45 เมื่อลูกหนี้ประสงค์จะทำความตกลงในเรื่องหนี้สินโดยวิธีขอชำระหนี้แต่เพียงบางส่วนหรือโดยวิธีอื่น ให้ทำคำขอประนอมหนี้เป็นหนังสือยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินตามมาตรา 30 หรือภายในเวลาตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กำหนดให้
   คำขอประนอมหนี้ต้องแสดงข้อความแห่งการประนอมหนี้ หรือวิธีจัดกิจการหรือทรัพย์สินและรายละเอียดแห่งหลักประกัน หรือผู้ค้ำประกัน ถ้ามี และอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
   (1) ลำดับการชำระหนี้ตามพระราชบัญญัตินี้
   (2) จำนวนเงินที่ขอประนอมหนี้
   (3) แนวทางและวิธีการในการปฏิบัติตามคำขอประนอมหนี้
   (4) กำหนดเวลาชำระหนี้
   (5) การจัดการกับทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ถ้ามี
   (6) ผู้ค้ำประกัน ถ้ามี
   ถ้าคำขอประนอมหนี้มีรายการไม่ครบถ้วนชัดเจนตามวรรคสอง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งให้ลูกหนี้แก้ไขให้ครบถ้วนชัดเจน
   ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อปรึกษาลงมติพิเศษว่าจะยอมรับคำขอประนอมหนี้นั้นหรือไม่
      - มาตรา 45 ยื่นขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ภายใน 7 วัน นับต่อจาก มาตรา 30 (2)
      - ลูกหนี้จะขอประนอมหนี้หรือไม่ก็ได้ กฎหมายมิได้บังคับ

3. หน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
หน้าที่ 1
   หน้าที่โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ตามมาตรา 28 วรรคแรก (พิทักษ์ทรัพย์)
   มาตรา 28 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งนั้นในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ในคำโฆษณานั้นให้แสดงการขอให้ล้มละลาย วันที่ศาลมีคำสั่ง ชื่อ ตำบลที่อยู่ และอาชีพของลูกหนี้
      - ใช้ทั้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวและคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณา และต้องโฆษณาทั้งในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวัน 
      - (หนังสือพิมพ์รายวันยี่ห้อไหนก็ได้ ที่ออกพิมพ์รายวัน อาจจะเผยแพร่ในตำบลใดตำบลหนึ่งทุกวันก็ได้ ไม่ต้องเป็นที่นิยม เพราะค่าโฆษณาแพง ค่าโฆษณาเอามาจากค่าใช้จ่ายซึ่งเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้วางไว้ตอนแรก 5,000 บาท ซึ่งอาจารย์มองว่าไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เจ้าหนี้มีหน้าที่จะต้องติดตามเอง)
      - โฆษณาเพื่อให้เจ้าหนี้คนอื่นได้ทราบ โดยเฉพาะคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้ทุกคนไม่ว่าจะได้ยื่นฟ้องหรือไม่ได้ยื่นฟ้องจะต้องมายื่นคำขอรับชำระหนี้ และต้องการให้บุคคลภายนอกทั่วไปได้ทราบคำสั่ง เพื่อป้องกันมิให้ลูกหนี้ไปทุจริตฉ้อโกงบุคคลภายนอก 
      ***และเราต้องรู้ว่าโฆษณาในราชกิจจานุเบกษาวันไหน (วันที่เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา) โฆษณาหนังสือพิมพ์วันไหน (คำโฆษณาอยู่ในหนังสือพิมพ์ฉบับวันไหน) ซึ่งจะทำให้นับวันยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ถูกต้อง

   หน้าที่กำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ตามมาตรา 28 วรรคสอง (พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด)
   มาตรา 28 วรรคสอง ในคำโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น ให้แจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสนอคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย
      - จะสอดคล้องกับหน้าที่ของเจ้าหนี้ โดยเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะโฆษณาคำสั่ง และกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ เจ้าหนี้จึงมีหน้าที่ต้องมายื่นคำขอรับชำระหนี้

หน้าที่ 2 เข้ายึดทรัพย์สิน ตามมาตรา 19 (พิทักษ์ทรัพย์)
   มาตรา 19 คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ให้ถือเสมือนว่า เป็นหมายของศาลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ายึดดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารของลูกหนี้ และบรรดาทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความครอบครองของลูกหนี้ หรือของผู้อื่นอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย
   ในการยึดทรัพย์นั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ใดๆ อันเป็นของลูกหนี้ หรือที่ลูกหนี้ได้ครอบครองอยู่ และมีอำนาจหักพังเพื่อเข้าไปในสถานที่นั้นๆ รวมทั้งเปิดตู้นิรภัย ตู้หรือที่เก็บของอื่นๆ ตามที่จำเป็น
   ทรัพย์สินต่างๆ ที่ยึดไว้ตามมาตรานี้ ห้ามมิให้ขายจนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย เว้นแต่เป็นของเสียง่าย หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนแห่งค่าของทรัพย์สินนั้น
      - ลูกหนี้ส่งมอบทรัพย์สินตามมาตรา 23 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหน้าที่เข้ายึดตามมาตรา 19
      - ถ้าทรัพย์สินของลูกหนี้แต่อยู่ในความครอบครองของผู้อื่น (จ.พ.ท. ไม่มีอำนาจเข้าไปในเคหสถานของผู้อื่น) ต้องใช้มาตรา 19 + มาตรา 20 เมื่อศาลเห็นเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีทรัพย์สินของลูกหนี้ซุกซ่อนอยู่ในเรือนโรง เคหสถาน หรือสถานที่อื่นอันมิใช่เป็นของลูกหนี้ ศาลมีอำนาจออกหมายค้นให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือเจ้าพนักงานอื่นของศาล ให้มีอำนาจดำเนินการตามข้อความในหมายนั้น 
      - ถ้าทรัพย์สินเป็นของผู้อื่นแต่มาอยู่ในความครอบครองของลูกหนี้ จะยึดได้หรือไม่ ต้องอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 + มาตรา 109 ทรัพย์สินดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ ...(3) สิ่งของซึ่งอยู่ในครอบครองหรืออำนาจสั่งการหรือสั่งจำหน่ายของลูกหนี้ ในทางการค้าหรือธุรกิจของลูกหนี้ ด้วยความยินยอมของเจ้าของอันแท้จริง โดยพฤติการณ์ซึ่งทำให้เห็นว่าลูกหนี้เป็นเจ้าของในขณะที่มีการขอให้ลูกหนี้นั้นล้มละลาย 
         -- ถ้าทรัพย์สินเกี่ยวกับทางการค้าหรือธุรกิจของลูกหนี้ สามารถยึดได้ 
         -- แต่ถ้าทรัพย์สินนี้ไม่เกี่ยวกับธุรกิจการค้าของลูกหนี้ ก็ยึดไม่ได้ ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดทรัพย์สินที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจและการค้าของลูกหนี้ไปแล้ว เจ้าของทรัพย์สินจะต้องร้องขัดทรัพย์ ต้องหาหลักฐานมาแสดงว่าเป็นเจ้าของทรัพย์ พูดปากเปล่าไม่ได้ เช่น ต้องหาใบเสร็จ ใบรับประกัน เป็นต้น
      - มาตรา 19 วรรคสอง ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าไปในเคหสถานของลูกหนี้ได้เลย ไม่ต้องมีหมายคืน ถ้าเข้าไม่ได้ ให้มีอำนาจหักพังเพื่อเข้าไปในสถานที่นั้นๆ ไม่ผิดฐานทำให้เสียทรัพย์  
      - มาตรา 19 วรรคท้าย ยึดได้อย่างเดียว ยังขายไม่ได้ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาให้ล้มละลาย เว้นแต่เป็นของเสียง่าย (เช่น เนื้อหมูเนื้อวัว ผัก) หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนแห่งค่าของทรัพย์สิน (ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาทรัพย์จะมากกว่ามูลค่าทรัพย์ที่ยึด)

หน้าที่ 3 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจตามมาตรา 22 (พิทักษ์ทรัพย์)
   มาตรา 22 เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้
   (1) จัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป
   (2) เก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้ หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น
   (3) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้
      - มาตรา 22 จัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้
      - มาตรา 22 (1) + มาตรา 19 วรรคท้าย ของเสียง่าย ก็ใช้วิธีจำหน่าย
      - มาตรา 22 (3) ต้องเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ถ้าไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ลูกหนี้ยังมีอำนาจจัดการคดีของตนเองได้

หน้าที่ 4 เข้าไปว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามมาตรา 25 (พิทักษ์ทรัพย์)
   มาตรา 25 ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจงดการพิจารณาคดีแพ่งนั้นไว้ หรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้
      - เป็นกรณีที่ลูกหนี้ถูกฟ้องเป็นคดีแพ่งและคดีล้มละลายไปพร้อมๆ กัน โดยเจ้าหนี้คนละคนกัน 
      - เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจใช้ดุลพินิจ ดังนี้
         -- ถ้าคดีแพ่ง มีโอกาสชนะคดี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็จะเข้าไปว่าคดีแทน เพื่อรักษาประโยชน์ของกองทรัพย์สิน
         -- ถ้าศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจร้องขอให้งดการพิจารณาไว้ก่อน
         -- ถ้าศาลพิพากษายกฟ้องคดีล้มละลาย คดีแพ่งก็จะดำเนินคดีต่อไป
         -- ถ้าศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็จะร้องขอให้จำหน่ายคดี เพื่อให้เจ้าหนี้ในคดีแพ่ง มายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายนี้


หน้าที่ 5 เรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก ตามมาตรา 31 (พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด)
   มาตรา 31 เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด เพื่อปรึกษาว่าจะควรยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ หรือควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป การประชุมนี้ให้เรียกว่าการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก
   เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณากำหนดวันเวลา และสถานที่ที่จะประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และต้องแจ้งไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายเท่าที่ทราบด้วย
      - ลูกหนี้ยื่นขอประนอมหนี้ตามมาตรา 45 จึงประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก มีมติได้เพียง 2 ทาง เท่านั้น คือ
         1) จะยอมรับคำขอประนอมหนี้ หรือ
         2) ควรขอให้ศาลพิพากษาล้มละลาย
         ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ มีมติเป็นอย่างอื่นนอกจาก 2 ทางนี้ ถือว่ามติของที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
      - อาจารย์เคยบอกไปแล้วว่า การพิจารณาเรื่องขอประนอมหนี้ ต้องใช้ "มติพิเศษ" คือ ดูจำนวนเจ้าหนี้ต้องเป็นฝ่ายข้างมาก และจำนวนหนี้ต้องเท่ากับ 3 ใน 4 คิดจากเจ้าหนี้คนที่เข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนน ***กลับไปดูมาตรา 6
      สรุปขั้นตอนการประชุมเจ้าหนี้
      1) ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก มาตรา 31 (จ.พ.ท. เป็นประธานในการประชุม ตามมาตรา 33)
      2) ประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย มาตรา 45
      3) ยอมรับ หรือ ขอให้ล้มละลาย เท่านั้น มาตรา 31 (ถ้าไม่ยอมรับในการประนอมหนี้ จะต้องขอให้ล้มละลาย และศาลจะมีคำพิพากษาให้ล้มละลายตามมาตรา 61)
      4) มติพิเศษยอมรับ มาตรา 6 + มาตรา 49 ยอมรับในการประนอมหนี้
      5) ศาลไต่สวนโดยเปิดเผย มาตรา 42 
         มาตรา 42 เมื่อได้มีการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเสร็จแล้ว ให้ศาลไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยเป็นการด่วน เพื่อทราบกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ เหตุผลที่ทำให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตลอดจนความประพฤติของลูกหนี้ว่าได้กระทำหรือละเว้นกระทำการใดซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่นเกี่ยวกับการล้มละลาย หรือเป็นข้อบกพร่องอันจะเป็นเหตุให้ศาลไม่ยอมปลดจากล้มละลายโดยไม่มีเงื่อนไข เว้นแต่ศาลเห็นว่าการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยยังไม่มีความจำเป็น ศาลจะพิจารณางดการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยไว้ก่อนก็ได้
         ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งประกาศแจ้งความกำหนดวันเวลาที่ศาลนัดไต่สวนโดยเปิดเผยให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ
      6) ศาลเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ มาตรา 53      
         - ศาลไต่สวนแล้วได้ข้อเท็จจริง 3 ประการ ถ้ามติพิเศษยอมรับและศาลเห็นชอบ คำขอประนอมหนี้ก็สำเร็จ แต่ถ้ามติพิเศษยอมรับแต่ศาลไม่เห็นชอบ ศาลก็จะสั่งไม่เห็นชอบและพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย

สรุป
1. ถ้าลูกหนี้ไม่ยื่นคำขอประนอมหนี้ มติก็ต้องขอให้ล้มละลาย 
    (ถ้าใจดี ไม่ขอให้ล้มละลาย แสดงว่ามติขัดต่อมาตรา 31 จ.พ.ท.ซึ่งเป็นประธานการประชุม ก็จะขอให้ศาลเพิกถอนมติ ตามมาตรา 36 เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่ามติของที่ประชุมเจ้าหนี้ขัดต่อกฎหมาย หรือประโยชน์อันร่วมกันของเจ้าหนี้ทั้งหลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาล และศาลอาจมีคำสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติการตามมตินั้นได้ แต่ต้องยื่นต่อศาลภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติ) มาตรา 36 เป็นอำนาจของ จ.พ.ท. เท่านั้น คนอื่นร้องขอไม่ได้
    ถ้ามติขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อประโยชน์อันร่วมกันของเจ้าหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็จะขอให้ศาลเพิกถอนมติ ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ลงมติ แต่ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้เพิกถอนเกิน 7 วัน มติที่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อประโยชน์อันร่วมกันของเจ้าหนี้ มตินั้นเป็นอันใช้ได้ เว้นแต่มตินั้นขัดต่อกฎหมายความสงบเรียบร้อย มติเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
2. ถ้าลูกหนี้ยื่นคำขอประนอมหนี้
    - ถ้ามติพิเศษไม่ยอมรับในการประนอมหนี้ ต้องขอให้ล้มละลาย
    - ถ้ามติพิเศษยอมรับในการประนอมหนี้และศาลเห็นชอบ คำขอประนอมหนี้เป็นผลสำเร็จ
    - ถ้ามติพิเศษยอมรับในการประนอมหนี้แต่ศาลไม่เห็นชอบ ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย

***อาจารย์บรรยาย 5 ครั้ง ครั้งหน้าเป็นครั้งสุดท้าย อาจารย์จะพูดมาตรา 45 , 46 , 56 อาจารย์จะบอกขอบเขตสอบ แล้วหลังจากนั้นจะเป็นการบรรยายของอาจารย์ภัทรวรรณ อีก 5 ครั้ง


---จบคำบรรยาย ครั้งที่ 4---
#นักเรียนกฎหมาย
23 เมษายน 2562

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542