สรุปคำบรรยาย กฎหมายล้มละลาย (ครั้งที่ 3)
สรุปคำบรรยาย
วิชากฎหมายล้มละลาย LAW3010
ครั้งที่ 3 :: วันที่ 17 เมษายน 2562 ภาคเรียน summer/2561
บรรยายโดยท่านอาจารย์นันทรัตน์ เตชะมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- อาจารย์ทบทวนเนื้อหาที่บรรยายครั้งที่แล้ว มาตรา 8-10 และบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง
- คำถาม ถ้าเราเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกันหรือเจ้าหนี้มีประกัน จะฟ้องคดีล้มละลายจะใช้หลักเกณฑ์ใด
(เจ้าหนี้ไม่มีประกัน หลักเกณฑ์ตามมาตรา 7 , 8, 9 ส่วนเจ้าหนี้มีประกัน หลักเกณฑ์ตามมาตรา 7 , 8 , 9 , 10 ต้องใส่ในคำฟ้องให้ครบถ้วน)
หน้าที่ของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์
มาตรา 11 เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายไว้ต่อศาลเป็นจำนวนห้าพันบาทในขณะยื่นคำฟ้องคดีล้มละลาย และจะถอนคำฟ้องนั้นไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
- ระวัง คำว่า "เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์" ไม่ใช้คำว่า "โจทก์" เฉยๆ คำว่าเจ้าหนี้ คือเป็นเจ้าหนี้แต่ไม่ได้ฟ้อง คนฟ้องคือเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์
- ต้องวางค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีล้มละลาย 5,000 บาท ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะนำไปใช้จ่ายในการดำเนินการต่างๆ เมื่อใช้จ่ายไม่พอ เจ้าพนักงานจะเรียกให้วางค่าใช้จ่ายเพิ่ม หากไม่วาง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขอให้ศาลยกเลิกคดีล้มละลาย
- ค่าธรรมเนียมศาล 500 บาท วางพร้อมกับค่าใช้จ่าย รวม 5,500 บาท
- ฟ้องแล้วจะถอนฟ้องไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต เหตุที่ต้องให้ถอนฟ้องยาก เพราะคดีล้มละลายฟ้องแล้วจะได้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้คนอื่น โดยมีหลักเกณฑ์การถอนฟ้องดังนี้
-- ขอถอนฟ้องต่อศาลชั้นต้นเท่านั้น (ปัจจุบันศาลล้มละลายมี 3 ชั้นศาล ชั้นต้น อุทธรณ์ ฎีกา)
-- ขอก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (ถ้ามีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จะถอนฟ้องไม่ได้)
(ถ้าศาลมีเพียงคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว ถอนฟ้องได้ ดูมาตรา 154 ในคดีที่ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวแล้ว ถ้าเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ทิ้งฟ้อง ถอนฟ้องหรือขาดนัดพิจารณา ก่อนที่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดี ให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อยหนึ่งฉบับ เพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งหลายทราบ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน)
หน้าที่ของศาล (เมื่อตรวจคำฟ้อง และรับฟ้องแล้ว)
มาตรา 13 เมื่อศาลสั่งรับฟ้องคดีล้มละลายไว้แล้ว ให้กำหนดวันนั่งพิจารณาเป็นการด่วน และให้ออกหมายเรียกและส่งสำเนาคำฟ้องไปยังลูกหนี้ให้ทราบก่อนวัน นั่งพิจารณาไม่น้อยกว่า 7 วัน
- ศาลต้องกำหนดวันนั่งพิจารณาเป็นการด่วน เพราะคำสั่งศาลมีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก
- ออกหมายเรียก
- ส่งสำเนาคำฟ้องไปยังลูกหนี้ให้ทราบ
- ส่งก่อนวันนั่งพิจารณาไม่น้อยกว่า 7 วัน ***สำคัญมาก ถ้าส่งน้อยกว่า 7 วัน ถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลสูงจะเพิกถอน และสั่งให้ศาลต้นส่งใหม่
- ลูกหนี้จะยื่นคำให้การหรือไม่ยื่นก็ได้*** หลักเกณฑ์นี้แตกต่างจะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เนื่องจากกฎหมายไม่ได้บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของลูกหนี้
-- ถ้าลูกหนี้ไม่ยื่นคำให้การ ศาลจะสั่งว่าขาดนัดยื่นคำให้การ (คดีล้มละลาย ไม่มีขาดนัดยื่นคำให้การ ถ้าศาลสั่งว่าขาดนัดยื่นคำให้การ คำสั่งย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย)
-- ถ้าลูกหนี้ยื่นคำให้การ ต้องยื่นไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนวันนั่งพิจารณา (ไม่ใช้กำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง)
เมื่อฟ้องแล้ว ศาลแจ้งคำฟ้องให้ลูกหนี้แล้ว ก็จะถึงขั้นตอนการสืบพยานว่าเป็นความจริงหรือไม่ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาช่วงหนึ่ง หากลูกหนี้ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน จะต้องขอวิธีการคุ้มครองชั่วคราว ตามมาตรา 17
วิธีการคุ้มครองชั่วคราว
มาตรา 17 ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวก็ได้ เมื่อศาลได้รับคำร้องนี้แล้ว ให้ดำเนินการไต่สวนต่อไปโดยทันที ถ้าศาลเห็นว่าคดีมีมูล ก็ให้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราว แต่ก่อนจะสั่งดังว่านี้ จะให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ให้ประกันค่าเสียหายของลูกหนี้ตามจำนวนที่เห็นสมควรก็ได้
- เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว
- ขอได้ในศาลชั้นต้นเท่านั้น และต้องขอก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
- มาตรา 17 ต้องยื่นคำร้อง ถ้าไม่ยื่นคำร้อง ศาลจะสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวเองไม่ได้
- เมื่อยื่นคำร้องแล้ว ศาลจะไต่สวน ถ้ามีมูล ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว มีผลทำให้ลูกหนี้หมดอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของตนเอง ทำนิติกรรมไม่ได้ ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไม่ได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเข้ามาจัดการทรัพย์สินแทนลูกหนี้ (แต่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังเป็นของลูกหนี้อยู่เช่นเดิม)
- แต่ถ้าคำร้องไม่มีมูล ศาลจะยกคำร้อง (ไม่ใช่ยกฟ้อง)
การสืบพยานตามคำฟ้อง
- ถ้าได้ความจริงตามที่ฟ้อง (เจ้าหนี้ไม่มีประกัน มาตรา 7-9 , เจ้าหนี้มีประกัน มาตรา 7-10) ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (เพื่อต้องการให้ลูกหนี้ยื่นขอประนอมหนี้ ยังไม่พิพากษาให้ล้มละลาย***) "คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไม่ว่าชั่วคราวหรือเด็ดขาด ลูกหนี้ยังไม่ล้มละลายจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาให้ล้มละลาย"
- ถ้าสืบพยานแล้วไม่ได้ความจริงตามฟ้อง ศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้อง
การพิจารณาคดีล้มละลาย
มาตรา 14 ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริง หรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้อง
- การสืบพยานแล้วไม่ได้ความจริง คือ ไม่มีมูล ศาลต้องยกฟ้อง
- ลูกหนี้มีพยานว่าอาจชำระหนี้ได้ ศาลต้องยกฟ้อง
- เหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลต้องยกฟ้อง ได้แก่
-- หนี้ขาดอายุความ ถ้าเข้าหลักเกณฑ์การฟ้อง สามารถฟ้องได้ แต่ในระหว่างการสืบพยาน ถ้าลูกหนี้ไม่ได้ยกขึ้นโต้แย้ง ศาลล้มละลายมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เนื่องจากเป็นเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลจะพิพากษายกฟ้อง (ถ้าเป็นคดีแพ่ง ลูกหนี้ไม่โต้แย้ง ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้)
-- หนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งซึ่งยังไม่ถึงที่สุด ศาลจะยกฟ้อง
-- เจ้าหนี้มีประกันแกล้งตีราคาหลักประกันต่ำเกินความจริง เพราะหากตีราคาหลักประกันตามความเป็นจริง หนี้ที่เหลืออาจไม่ถึงเกณฑ์ 1 ล้านบาท (บุคคลธรรมดา)/2 ล้านบาท (นิติบุคคล) ซึ่งจะนำมาฟ้องคดีล้มละลายไม่ได้ แต่เจ้าหนี้แกล้งตีราคาหลักประกันให้ต่ำเกินความจริง เพื่อฟ้องคดีล้มละลาย ศาลจะถือว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย และพิพากษายกฟ้อง
- เมื่อสืบพยานเสร็จ ศาลจะสั่งได้เพียง 2 อย่าง คือ คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หรือพิพากษายกฟ้อง เท่านั้น
คำถาม คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว (มาตรา 17) กับคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (มาตรา 14) เหมือนกันหรือต่างกัน
1. เหมือนกัน
- ผล คือ ลูกหนี้หมดอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของตนเอง อำนาจเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
2. ต่างกัน
- คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว เป็นเพียงแค่วิธีการคุ้มครองชั่วคราว ถ้าข้อเท็จจริงเปลี่ยนไป ศาลสามารถมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงได้ แต่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดมีผลอย่างคำพิพากษา (สั่งแล้วสั่งเลย เปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งไม่ได้)
มาตรา 15 ตราบใดที่ลูกหนี้ยังมิได้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดจะฟ้องลูกหนี้นั้นเป็นคดีล้มละลายอีกก็ได้ แต่เมื่อศาลได้สั่งในคดีหนึ่งคดีใดให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้จำหน่ายคดีล้มละลายซึ่งเจ้าหนี้อื่นฟ้องลูกหนี้คนเดียวกันนั้น
- ถ้าเป็นเจ้าหนี้คนเดียวกัน อาจเป็นฟ้องซ้อน
- ถ้าเจ้าหนี้หลายคนฟ้องลูกหนี้ ศาลล้มละลายอาจใช้ดุลพินิจให้รวมการพิจารณาคดีได้ โดยเจ้าหนี้ไม่ต้องร้องขอ (มาตรา 12 ถ้ามีคำฟ้องหลายรายให้ลูกหนี้ คนเดียวกันล้มละลายก็ดี หรือให้ลูกหนี้ร่วมกันแต่ละคนล้มละลายก็ดี ศาลมีอำนาจสั่งให้รวมการพิจารณาได้)
- ถ้าศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีอื่น (ให้เหลือคดีเดียว) เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ที่ถูกจำหน่ายคดีหรือเจ้าหนี้อื่นๆ ที่ไม่ได้ฟ้อง มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้นได้ เพื่อบริหารจัดการให้แก่เจ้าหนี้ทุกคน
เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ จะเกิดหน้าที่ของบุคคลดังต่อไปนี้
1. หน้าที่ของเจ้าหนี้
ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ตามมาตรา 27 + มาตรา 91 (พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด)
2. หน้าที่ของลูกหนี้
หน้าที่ 1 ส่งมอบทรัพย์สิน ตามมาตรา 23 (พิทักษ์ทรัพย์)
หน้าที่ 2 ยื่นคำชี้แจง ตามมาตรา 30 (พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด)
หน้าที่ 3 เสนอคำขอประนอมหนี้ ตามมาตรา 45 (พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด)
3. หน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
หน้าที่ 1
- โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ตามมาตรา 28 วรรคแรก (พิทักษ์ทรัพย์)
- กำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ตามมาตรา 28 วรรคสอง (พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด)
หน้าที่ 2 เข้ายึดทรัพย์สิน ตามมาตรา 19 (พิทักษ์ทรัพย์)
หน้าที่ 3 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจตามมาตรา 22 (พิทักษ์ทรัพย์)
หน้าที่ 4 เข้าไปว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามมาตรา 25 (พิทักษ์ทรัพย์)
หน้าที่ 5 เรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก ตามมาตรา 31 (พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด)
ครั้งต่อไปจะมาดูหน้าที่ของบุคคลทั้งสามดังกล่าว
---จบคำบรรยาย ครั้งที่ 3---
#นักเรียนกฎหมาย
20 เมษายน 2562
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น