สรุปคำบรรยาย กฎหมายล้มละลาย (ครั้งที่ 2)
สรุปคำบรรยาย
วิชากฎหมายล้มละลาย LAW3010
ครั้งที่ 2 :: วันที่ 10 เมษายน 2562 ภาคเรียน summer/2561
บรรยายโดยท่านอาจารย์ นันทรัตน์ เตชะมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ข้อสันนิษฐานว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
มาตรา 8 ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
(1) ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินหรือสิทธิจัดการทรัพย์สินของตนให้แก่บุคคลอื่น เพื่อประโยชน์แห่งเจ้าหนี้ทั้งหลายของตน ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
(2) ถ้าลูกหนี้โอนหรือส่งมอบทรัพย์สินของตนไป โดยการแสดงเจตนาลวงหรือโดยการฉ้อฉล ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
- เป็นการโอนให้แก่บุคคลภายนอก
- การโอนโดยเจตนาลวง ไม่มีเจตนาในการโอนทรัพย์สินกัน การโอนจึงเป็นโมฆะ
- การโอนโดยฉ้อฉล มีเจตนาในการโอนทรัพย์สินกัน แต่โอนไปเพื่อให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
(3) ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินของตนหรือก่อให้เกิดทรัพย์สิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นเหนือทรัพย์สินนั้น ซึ่งถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะต้องถือว่าเป็นการให้เปรียบ ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
- เป็นการโอนให้แก่เจ้าหนี้รายหนึ่งรายใด เป็นการให้เปรียบแก่เจ้าหนี้คนอื่น
(4) ถ้าลูกหนี้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ เพื่อประวิงการชำระหนี้หรือมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้
ก. ออกไปเสียนอกราชอาณาจักร หรือได้ออกไปก่อนแล้วและคงอยู่นอกราชอาณาจักร
ก. ออกไปเสียนอกราชอาณาจักร หรือได้ออกไปก่อนแล้วและคงอยู่นอกราชอาณาจักร
- ถ้าลูกหนี้มีธุระออกไปทำนอกราชอาณาจักร และทำธุระเสร็จแล้วกลับเข้ามาในราชอาณาจักร ไม่ถือว่าเป็นการออกไปเสียนอกราชอาณาจักร
ข. ไปเสียจากเคหะสถานที่เคยอยู่ หรือซ่อนตัวอยู่ในเคหะสถานหรือหลบไป หรือวิธีอื่น หรือปิดสถานที่ประกอบธุรกิจ
ค. ยักย้ายทรัพย์ไปให้พ้นอำนาจศาล
- เป็นการเปลี่ยนที่อยู่ของทรัพย์ ทำให้เจ้าหนี้หรือศาลไม่ทราบว่าตัวทรัพย์มีอยู่ จึงติดตามนำทรัพย์มาบังคับชำระไม่ได้
ง. ยอมตนให้ต้องคำพิพากษาซึ่งบังคับให้ชำระเงินซึ่งตนไม่ควรต้องชำระ
- เป็นกรณีลูกหนี้ถูกฟ้องเป็นคดี มีทางต่อสู้คดีให้ชนะโดยสุจริต แต่ไม่ต่อสู้คดี ทำให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระเงิน
- ข้อนี้อาจนำสืบยากหน่อย
- ลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี พอมีทรัพย์ให้ยึดบ้าง แต่ไม่พอชำระหนี้
- กรณีไม่มีทรัพย์สินที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ คือไม่มีทรัพย์ให้ยึดเลย
(6) ถ้าลูกหนี้แถลงต่อศาลในคดีใดๆ ว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้
- คดีอะไรก็ได้ คดีแพ่ง คดีอาญา เป็นต้น การที่ลูกหนี้แถลงต่อศาลไม่ว่าจะพูดความจริงหรือโกหก เพราะมีการสาบานต่อหน้าศาลตามกฎหมาย น่าเชื่อว่าเป็นความจริง
(7) ถ้าลูกหนี้แจ้งให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดของตนทราบว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้
- เป็นกรณีลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายคน
(8) ถ้าลูกหนี้เสนอคำขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป
- คำขอประนอมหนี้ คือ การขอชำระหนี้แค่เพียงบางส่วน หรือเป็นการขอชำระหนี้โดยวิธีอื่น (วิธีอื่น รวมถึงการขอผ่อนชำระหนี้ด้วย)
- กรณีที่อาจารย์หักคะแนนในการสอบ คือ คำขอประนอมหนี้ คือ ข้อเสนอของลูกหนี้แต่ฝ่ายเดียว ส่วนสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นข้อตกลงของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย แต่คำทั้งสอง มีที่ใช้ตามกฎหมายล้มละลาย อยู่ที่ว่ากำลังทำอะไร ถ้าเป็นเรื่องคำขอประนอมหนี้ ห้ามใช้คำว่าสัญญาประนีประนอมยอมความ ใช้แทนกันไม่ได้
(9) ถ้าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และลูกหนี้ไม่ชำระหนี้
- หนี้ถึงกำหนดชำระ ต้องทวง ต้องทวงไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง โดยแต่ละครั้งต้องมีระยะเวลาห่างหันไม่น้อยกว่า 30 วัน ดูวันที่ลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 ต้องห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน (เวลาทำงาน ให้ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ จะทราบวันที่ลูกหนี้ได้รับหนังสือ)
- มีคำพิพากษาศาลฎีกาว่า ถ้าส่งไปรษณีย์แล้ว ลูกหนี้หรือคนในบ้านไม่เซ็นรับ ให้ถือว่าได้รับแล้ว
- มาตรา 8 เป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมาย (ที่ไม่เด็ดขาด) ลูกหนี้สามารถนำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างได้ เป็นหน้าที่ของลูกหนี้ที่จะต้องนำสืบหักล้าง หากลูกหนี้ไม่เข้ามาต่อสู้ในคดีหรือไม่สามารถนำสืบหักล้างได้ ก็จะเข้าบทสันนิษฐานของกฎหมายว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
- ในคำฟ้องอ้างอนุมาตราใดตาม (1) - (9) ก็สืบเฉพาะอนุมาตรานั้น
หลักเกณฑ์การฟ้องคดีล้มละลายของเจ้าหนี้ไม่มีประกัน
มาตรา 9 เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ ก็ต่อเมื่อ
(1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
- พิสูจน์ตามความเป็นจริง ว่าลูกหนี้มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ถ้าสามารถพิสูจน์ได้ ก็จะเป็นประโยชน์ในคดี ถ้าพิสูจน์ตามความเป็นจริงไม่ได้ ให้ใช้มาตรา 8 ข้อสันนิษฐานมาใช้ (***มาตรา 9 (1) + มาตรา 8)
(2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคน เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท และ
- อนุมาตรานี้เป็นจำนวนหนี้ขั้นต่ำ ให้อำนาจนำหนี้ของเจ้าหนี้คนอื่นๆ มารวมให้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ ก็ฟ้องได้ โดยไม่ต้องดูว่าเป็นมูลหนี้อะไร เช่น เจ้าหนี้คนแรกมูลหนี้ซื้อขาย เจ้าหนี้คนที่สองมูลหนี้สัญญาเช่า เจ้าหน้าคนที่สามมูลหนี้สัญญากู้ยืมเงิน ดูเพียงจำนวนหนี้ขั้นต่ำต้องถึงเกณฑ์เท่านั้น สำคัญมาก***
(3) หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม
- ถ้าหนี้กำหนดจำนวนไม่ได้ ก็จะไม่รู้ว่าเป็นหนี้เท่าไร ไม่รู้ว่าถึงหนึ่งล้านหรือสองล้านบาทหรือไม่
- หนี้ที่กำหนดจำนวนไม่ได้ คือ
1) หนี้ละเมิด เช่น ขาขาด 1 ข้าง กำหนดจำนวนแน่นอนไม่ได้ แต่ค่ารักษาพยาบาลกำหนดจำนวนแน่นอนได้
2) หนี้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญา
- การทำให้หนี้ที่กำหนดจำนวนไม่ได้ เป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้ มี 2 วิธี คือ
1) สัญญาประนีประนอมยอมความ เช่น ขาขาด 1 ข้าง ผู้ทำละเมิดทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ยอมจ่ายเงิน 3 ล้านบาท
2) ฟ้องคดีแพ่ง เช่น ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนที่ต้องเสียขาขาด 1 ข้าง และศาลมีคำพิพากษา (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คำพิพากษาของศาลมีผลผูกพันคู่ความ เกิดสิทธิและหน้าที่ต่อกันตามคำพิพากษา จึงเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนแน่นอนได้)
- เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่ง จะนำมาฟ้องเป็นคดีล้มละลายได้หรือไม่ จะเป็นฟ้องซ้ำฟ้องซ้อนหรือไม่ กฎหมายล้มละลายเป็นกฎหมายพิเศษ แต่วิธีพิจารณาต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับด้วย
ฟ้องซ้อน
1) โจทก์คนเดียวกัน
2) คดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา
3) มูลความเดียวกัน
ฟ้องซ้ำ
1) คู่ความเดียวกัน (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำเลยเป็นคนเดียวกัน)
2) คดีก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด
3) มูลความเดียวกัน เช่น คดีแพ่งฟ้องละเมิดจากการขับรถชน แต่การฟ้องคดีล้มละลาย เนื่องจากลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว มาตรา 7 (ไม่ได้นำมูลละเมิดมาฟ้อง)
- สามารถนำหนี้ในอนาคตมาฟ้องได้ ตามมาตรา 9 (3) เนื่องจากมีมูลหนี้ต่อกันและลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องรอให้หนี้ถึงกำหนดชำระแต่อย่างใด อีกทั้งกฎหมายล้มละลายเป็นไปเพื่อเจ้าหนี้ทุกคน
- มาตรา 9 (3) หนี้ที่นำมาฟ้องล้มละลายเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนหรือไม่ เป็นปัญหาความสงบเรียบร้อย ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
- มาตรา 9 เจ้าหนี้ไม่มีประกันจะฟ้องคดีล้มละลาย ต้องครบเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อ
หลักเกณฑ์การฟ้องคดีล้มละลายของเจ้าหนี้มีประกัน
มาตรา 10 ภายใต้บังคับมาตรา 9 เจ้าหนี้มีประกัน จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ
(1) มิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน และ
- อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 9 คือ จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 9 (1) - (3) ก่อน
- เจ้าหนี้มีประกัน ต้องครบหลักเกณฑ์ตามมาตรา 9 และมาตรา 10
- มาตรา 10 (1) สามารถบังคับเกินกว่าหลักประกันได้ คือ เจ้าหนี้มีประกัน เมื่อนำหลักประกันไปขายทอดตลาดแล้ว เงินที่ได้รับยังไม่พอชำระ จึงสามารถยึดทรัพย์สินอื่นได้อีก (ทรัพย์สินอื่นนี้ เป็นกรณีที่สามารถบังคับเกินกว่าหลักประกันได้)
- กรณีสัญญาจำนอง ดูประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดส่วนที่เกินกว่าหลักประกัน เจ้าหนี้จำนองจึงถูกห้ามมิให้บังคับเกินกว่าหลักประกัน จึงฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายไม่ได้
- แต่ถ้าสัญญาจำนอง ถ้ามีข้อตกลงพิเศษ นอกเหนือจากมาตรา 733 ว่าส่วนที่ขาด ลูกหนี้จะต้องรับผิด กรณีนี้ถือว่า ข้อตกลงในสัญญาขัดแย้งกับกฎหมาย แต่ไม่ใช่ข้อกฎหมายว่าด้วยความสงบเรียบร้อย ข้อตกลงในสัญญาจึงสามารถใช้บังคับกันได้ ดังนั้น ส่วนที่ยังขาดอยู่ ลูกหนี้จึงต้องรับผิด ทำให้เจ้าหนี้จำนองที่มีข้อตกลงพิเศษนี้ สามารถยึดทรัพย์สินอื่นเกินกว่าหลักประกันได้
- เจ้าหนี้มีประกัน 3 ประเภท (จำนำ , สิทธิยึดหน่วง , บุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับจำนำ) ไม่มีกฎหมายใดๆ ห้ามตามมาตรา 10 (1) ถ้ายึดหลักประกันแล้วยังไม่พอชำระหนี้ สามารถยึดทรัพย์สินอื่นได้อีก จึงไม่ต้องห้ามตามมาตรา 10 (1) นี้
(2) กล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท
- บังคับให้เลือก อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยระบุในคำฟ้อง
1) สละหลักประกัน
เจ้าหนี้ส่วนมากจะไม่สละหลักประกัน เนื่องจากมีผลเวลาได้รับชำระหนี้ หลักประกันเป็นของเจ้าหนี้มีประกันคนไหน เงินที่ได้จากการขายทอดตลาด จะเป็นของเจ้าหนี้ที่เป็นเจ้าของหลักประกันคนนั้นคนเดียว ไม่เกี่ยวกับเจ้าหนี้คนอื่น หรือหากเจ้าหนี้สละหลักประกันก็เนื่องจากเป็นของขายยาก
2) ตีราคาหลักประกัน เมื่อตีหลักประกันแล้ว หักออกจากจำนวนหนี้ แล้วเหลือหนี้ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทหรือสองล้านบาท แล้วแต่กรณี
---จบคำบรรยาย ครั้งที่ 2---
#นักเรียนกฎหมาย
19 เมษายน 2562
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น