การได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ และเงินค่ารับรองของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้มีคำวินิจฉัยเรื่องเสร็จที่ 529/2561
มาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 กำหนดให้ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งและยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป มีสิทธิได้รับเงินเดือนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่ได้รับอยู่
ดังนั้น ประธานกรรมการและกรรมการจึงมีสิทธิได้รับเงินเดือนเงินประจำตำแหน่งและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ตามพระราชกฤษฎีกาค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประธานกรรมการกรรมการและอนุกรรมการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2545 อันเป็นสิทธิเดิมที่เคยมีอยู่
สำหรับค่ารับรอง
เมื่อประธานกรรมการเท่านั้นที่เคยมีสิทธิได้รับเงินค่ารับรอง ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายเงินค่ารับรองในตำแหน่งประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ดังนั้น ประธานกรรมการจึงยังคงมีสิทธิได้รับค่ารับรองตามสิทธิเดิม ที่เคยมีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 60 วรรคสอง
สำหรับกรรมการ เมื่อเดิมไม่เคยมีสิทธิได้รับค่ารับรอง จึงยังคงไม่มีสิทธิได้รับค่ารับรองอยู่เช่นเดิม แม้ว่ามาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดยกเลิกพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542
แต่มาตรา 60 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ ให้ประธานกรรมการและกรรมการที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปยังคงมีสิทธิได้รับเงินเดือนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่น ตามที่ได้รับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวใช้บังคับ การยกเลิกพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 จึงไม่มีผลกระทบต่อสิทธิที่ได้มีบทบัญญัติรับรองไว้เป็นการเฉพาะดังกล่าว
ที่มา เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
#นักเรียนกฎหมาย
10 พฤศจิกายน 2561
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น