ระเบียบว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม โดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมในสังคมไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. กำหนดความหมาย
คุณธรรม หมายความว่า สิ่งที่มีคุณค่า มีประโยชน์ เป็นความดีงาม เป็นมโนธรรม เป็นเครื่องประคับประคองใจให้เกลียดความชั่ว กลัวบาป ใฝ่ความดี เป็นเครื่องกระตุ้นผลักดันให้เกิดความรู้สึกรับผิดชอบ เกิดจิตสำนึกที่ดีมีความสงบเย็นภายใน และเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังโดยเฉพาะเพื่อให้เกิดขึ้นและเหมาะสมกับความต้องการในสังคมไทย
จริยธรรม หมายความว่า กรอบหรือแนวทางอันดีงามที่พึงปฏิบัติ ซึ่งกำหนดไว้สำหรับสังคม เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยงดงาม ความสงบร่มเย็นเป็นสุข ความรักสามัคคี ความอบอุ่น มั่นคงและปลอดภัยในการดำรงชีวิต
2. กำหนดให้มี คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ประกอบด้วย
1) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง
3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง
4) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นรองประธานกรรมการคนที่สาม
5) ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นกรรมการ
6) ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการ
7) ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นกรรมการ
8) หลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการ
9) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินสิบคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคล ซึ่งมีความรู้ ความสามารถ และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์เกี่ยวกับงานส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม เป็นกรรมการ
อธิบดีกรมการศาสนาเป็นกรรมการและเลขานุการ
ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
และให้อธิบดีกรมการศาสนาแต่งตั้งรองอธิบดีกรมการศาสนาคนหนึ่ง เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
3. อำนาจหน้าที่ของ คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ
1) เสนอแนะ และให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมในสังคมไทย
2) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีให้มีหรือแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมในสังคมไทย
3) เสนอแผนแม่บทการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมในสังคมไทยต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติ
4) ประสานนโยบายและแผน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการปฏิบัติงานของภาคส่วนต่างๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมในสังคมไทย
5) พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานและโครงการต่างๆ ในการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมในสังคมไทยที่เสนอต่อคณะกรรมการ
6) กำหนดมาตรการในการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมในสังคมไทย
7) กำหนดกรอบและแนวทางในการประชุมสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้
8) เชิญข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ผู้ปฏิบัติงานอื่นในหน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาสอบถามข้อเท็จจริง รวมทั้งเรียกเอกสารจากหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประกอบการพิจารณา
9) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
10) ดำเนินการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม ตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
4. ในการดำเนินการตามระเบียบนี้ คณะกรรมการอาจเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณามอบหมายให้ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบปฏิบัติภารกิจตามระเบียบนี้ก็ได้
5. กรมการศาสนาทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ โดยมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
1) จัดทำแผนแม่บทการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมในสังคมไทยเสนอคณะกรรมการ
2) ส่งเสริม จัดทำและประสานแผนปฏิบัติการส่งเสริคุณธรรมและจริยธรรมในสังคมไทย ร่วมกับหน่วยงานของรัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
3) สนับสนุนการฝึกอบรมด้านคุณธรรมและจริยธรรม รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายองค์กรที่เกี่ยวข้อง
4) ประสาน ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบาย แผน แผนงานและโครงการที่เกี่ยวกับการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมในสังคมไทย
5) ปฏิบัติงานอื่นตามที่คณะกรรมการหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
อ้างอิง / ดาวน์โหลด
- ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2550
- ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135/ตอนพิเศษ 265 ง/หน้า 1/24 ตุลาคม 2561
#นักเรียนกฎหมาย
28 ตุลาคม 2561
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น