การยื่นคำขอให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สำหรับความเสียหายที่เกิดจากการออกคำสั่งลงโทษทางวินัยข้าราชการ
ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เรื่องเสร็จที่ 1515/2560
กระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่งลงโทษทางวินัยข้าราชการพลเรือนสามัญ ต่อมาได้มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยศาลปกครองได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัย
ข้าราชการดังกล่าวจึงได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายเกิดจากถูกลงโทษทางวินัย
แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการยื่นคำขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ล่วงพ้นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่กระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่งลงโทษทางวินัยแล้ว กรณีนี้จึงขาดอายุความ เนื่องจากพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 บัญญัติให้การใช้สิทธิเรียกร้องด้วยวิธีการยื่นคำขอให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จะต้องกระทำภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด เช่นเดียวกับการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล ไม่ว่าเป็นการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมหรือฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
เมื่อสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนขาดอายุความแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาเรื่องดอกเบี้ยผิดนัดในส่วนของค่าสินไหมทดแทนอีกแต่อย่างใด
สำหรับความเสียหายที่เกิดจากการออกคำสั่งลงโทษทางวินัยเป็นคำสั่งทางปกครอง แต่มิใช่ความเสียหายตามข้อ 4 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เนื่องจากตามระเบียบนี้ได้กำหนดให้ความเสียหายหมายความว่า ความเสียหายที่เกิดจากการละเมิดอย่างใดๆ แต่ไม่รวมถึงการออกคำสั่งหรือกฎ
กรณีนี้จึงไม่จำต้องดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในระเบียบดังกล่าว
ในส่วนของเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งที่สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้จ่ายให้แก่ข้าราชการดังกล่าวภายหลังจากศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยแล้ว ถือเป็นเงินที่หน่วยงานของรัฐจ่ายเพื่อเยียวยาหรือบรรเทาความเดือดร้อนในระหว่างที่ถูกลงโทษทางวินัย ตามสิทธิที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องเท่านั้น จึงมิใช่ค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชดใช้เพื่อทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการกระทำละเมิด
ที่มา เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ที่มา เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
#นักเรียนกฎหมาย
14 ตุลาคม 2561
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น