องค์ประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560
ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เรื่องเสร็จที่ 530/2561
มาตรา 70 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ได้คำนึงถึงจำนวนของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดเดิม จำนวน 5 คน ที่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ซึ่งแตกต่างจากจำนวนของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน
ดังจะเห็นได้จากการที่มาตรา 70 วรรคสาม ได้บัญญัติไว้ว่า ในกรณีผู้ซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามวรรคหนึ่ง ตาย ลาออก หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด และมีผู้ซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้นำความในมาตรา 17 วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ซึ่งมาตรา 17 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้บัญญัติไว้ว่า หากมีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดร่วมกันแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการ ทำหน้าที่เป็นกรรมการเป็นการชั่วคราวให้ครบ 7 คน โดยให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งทำหน้าที่ในฐานะกรรมการได้จนกว่ากรรมการที่ตนทำหน้าที่แทนจะปฏิบัติหน้าที่ได้หรือจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้ดํารงตําแหน่งแทน
ดังนั้น หากคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดเดิมที่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีจำนวนเหลืออยู่กึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งหมด กล่าวคือ มีกรรมการเหลืออยู่ 3 คนขึ้นไป ก็ย่อมปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ เนื่องจากการแต่งตั้งกรรมการชั่วคราวตามมาตรา 17 วรรคสาม จะมีขึ้นก็ต่อเมื่อมีกรรมการการเลือกตั้งเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งเท่านั้น โดยคำนึงถึงอัตราส่วนของกรรมการตามที่มีอยู่ ด้วยเหตุนี้การนับองค์ประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดเดิมที่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จึงต้องคำนวณตามอัตราส่วนในลักษณะเดียวกัน
สำหรับองค์ประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดเดิม จำนวน 5 คน ที่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปนั้น ให้ใช้วิธีการเทียบเคียงองค์ประชุมให้ได้อัตราส่วนเช่นเดียวกับอัตราส่วนขององค์ประชุมตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ได้บัญญัติให้การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า 5 คนจาก 7 คน จึงจะเป็นองค์ประชุม นับเป็นอัตราส่วน 5 ใน 7
สำหรับองค์ประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดเดิม จำนวน 5 คน ที่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปนั้น ให้ใช้วิธีการเทียบเคียงองค์ประชุมให้ได้อัตราส่วนเช่นเดียวกับอัตราส่วนขององค์ประชุมตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ได้บัญญัติให้การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า 5 คนจาก 7 คน จึงจะเป็นองค์ประชุม นับเป็นอัตราส่วน 5 ใน 7
กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดเดิมที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมีจำนวน 5 คนองค์ประชุมตามหลักการมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดเดิมในอัตราส่วนเดียวกันคือ 5 ใน 7 ซึ่งเท่ากับไม่น้อยกว่า 4 คนจาก 5 คน ดังนั้น กรรมการ 4 คน จึงนับเป็นองค์ประชุมได้
ที่มา เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
#นักเรียนกฎหมาย
25 ตุลาคม 2561
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น