ผลการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.
ระเบียบวาระการประชุม ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวันพรุ่งนี้ (ครั้งที่ 59/2561 วันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561) มีการพิจารณา เรื่อง รายงานผลการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ประจำปี พ.ศ. 2559
ผู้เขียนเห็นว่า เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. มีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญในกระบวนการยุติธรรม รักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของสังคมในการปราบปรามยาเสพติด จึงได้นำบทสรุปสำหรับผู้บริหาร ผลการจับกุมคดียาเสพติดทั่วประเทศ ปัญหาและอุปสรรค และข้อเสนอแนะ จากรายงานดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในกระบวนการยุติธรรมต่อไป ดังนี้
การรายงานผลการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ประจำปี พ.ศ. 2559 ฉบับนี้ จัดทำขึ้นเพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 มาตรา 14 วรรคท้าย โดยให้รายงานข้อเท็จจริง ปัญหาอุปสรรค ปริมาณการปฏิบัติงาน และผลสำเร็จของการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. เพื่อให้คณะรัฐมนตรีเสนอรายงาน พร้อมข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. เป็นผู้มีบทบาทบังคับใช้กฎหมาย ในการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. เหล่านี้ มาจากข้าราชการจากหลายส่วนราชการ ที่มีภารกิจด้านปราบปรามยาเสพติด โดยให้มีอำนาจเข้าค้นในเคหสถาน ค้นบุคคลหรือยานพาหนะ จับกุมผู้ต้องหาคดียาเสพติด ยึดหรืออายัดยาเสพติดหรือทรัพย์สิน ค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สอบสวนผู้ต้องหาคดียาเสพติด และเรียกบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานใดมาให้ถ้อยคำ หรือเรียกเอกสารมาตรวจสอบหรือประกอบการพิจารณา นอกจากนี้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ยังมีอำนาจตรวจหรือทดสอบหาสารเสพติดในร่างกาย (มาตรา 14 ทวิ) อำนาจขอให้บุคคลอื่นช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ (มาตรา 14 ตรี) อำนาจเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร (การดักฟังโทรศัพท์) (มาตรา 14 จัตวา) รวมทั้งมีอำนาจดำเนินมาตรการในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในสถานประกอบการ (มาตรา 13 ตรี) เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กรอบแผนงานด้านการควบคุมตัวยาและผู้ค้ายาเสพติด
ผลการจับกุมคดียาเสพติดทั่วประเทศ
เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ใช้อำนาจในการปราบปรามผู้กระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 มีผลการจับกุมคดียาเสพติดทั่วประเทศ ปี พ.ศ. 2559 จำนวน 166,448 คดี ผู้ต้องหา 182,225 คน เป็นคดีไม่ทราบผู้กระทำความผิด 1,282 คดี จำแนกเป็นคดี
- ยาบ้า 115,381 คดี ของกลาง 123.62 ล้านเม็ด
- ไอซ์ 15,154 คดี ของกลาง 2,331.4 กิโลกรัม
- เฮโรอีน 836 คดี ของกลาง 333.57 กิโลกรัม
- โคเคน 63 คดี ของกลาง 54.57 กิโลกรัม
- กัญชาแห้ง 10,122 คดี ของกลาง 33,234.07 กิโลกรัม
- กัญชาสด 925 คดี ของกลาง 1,702.53 กิโลกรัม
- พืชกระท่อม 23,206 คดี ของกลาง 86,212.73 กิโลกรัม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ผ่านมานั้น ในการปราบปรามผู้กระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 จะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีก็ตาม แต่ยังคงประสบปัญหาหลายประการเช่นเดียวกัน กล่าวคือ
ปัญหาและอุปสรรค
1. ปัญหาด้านกำลังพลและการสับเปลี่ยนหมุนเวียนของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.
1) เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. จากทุกหน่วยงานทั่วประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 15,097 ราย ถือเป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดทั่วประเทศ ซึ่งเทียบจากสถิติการจับกุมคดียาเสพติด ปี พ.ศ. 2559 (เฉพาะเมทแอมเฟตามีน) มีการจับกุมทั้งสิ้น 110,380 คดี ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนจำนวนเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. กับสถิติการจับกุมคดียาเสพติดดังกล่าว จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่ากำลังพลของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ไม่เพียงพอที่จะรองรับการดำเนินภารกิจในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรมยาเสพติด ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
2) หน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. มีการสับเปลี่ยนกำลังพลผู้ปฏิบัติการในระดับพื้นที่ เป็นผลทำให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. บางส่วนถูกโยกย้ายออกจากพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของปัญหายาเสพติด นอกจากนี้ ในบางกรณีมีการเปลี่ยนหน้าที่ความรับผิดชอบของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ส่งผลให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ดังกล่าว ขาดคุณสมบัติการเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตามที่ระเบียบกำหนด อันกระทบต่อกำลังพลของผู้บังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
3) ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพยายามหาวิธีการกำจัดเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้ขัดขวางการกระทำความผิดของตน โดยการกลั่นแกล้งร้องเรียนทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ขาดความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ราชการ บั่นทอนขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่และการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาล ซึ่งกรณีดังกล่าวมักจะเกิดกับเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามกลุ่มเครือข่ายนักค้ายาเสพติดรายสำคัญ
2. ปัญหาการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.
เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. มาจากหลายส่วนราชการ พื้นฐานความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดมีไม่เท่ากัน ส่งผลให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. บางส่วนใช้อำนาจของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด จนถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยจากการปฏิบัติหน้าที่ี หรือมีการใช้อำนาจของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. แต่ขาดการบูรณาการทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการสืบสวนขยายผล ทำให้เสียโอกาสในการจับกุมผู้กระทำความผิดรายสำคัญ หรือผู้เป็นนายทุนหรือผู้บงการอยู่เบื้องหลังการกระทำความผิด
3. ปัญหาด้านเครื่องมือ/อุปกรณ์ในการทำงาน
เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. บางส่วนราชการขาดเครื่องมือบางประการที่จะใ้ในการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดคดียาเสพติด เช่น วิทยุสื่อสาร เสื้อเกราะกันกระสุนที่ใช้ไม่ทันสมัย หรือไม่ไม่เพียงพอต่อกำลังพลที่ต้องออกปฏิบัติหน้าที่ ยานพาหนะหมดสภาพการใช้งาน กล้องซุกซ่อน อุปกรณ์ติดตามตัวเป้าหมาย เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานขยายผลไปสู่ผู้กระทำความผิดรายใหญ่
จากปัญหาอุปสรรคดังที่กล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าล้วนเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งสิ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้การใช้อำนาจของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีข้อเสนอแนะเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวดังต่อไปนี้
ข้อเสนอแนะ
1. ด้านกำลังพลและการสับเปลี่ยนหมุนเวียนของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.
1) สำนักงาน ป.ป.ส. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกลางซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแล และติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ทุกสังกัด เห็นควรมีการประสานหารือต้นสังกัดของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. เกี่ยวกับการแต่งตั้งข้าราชการในสังกัดให้เป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และชี้แจงทำความเข้าใจกับส่วนราชการต่างๆ ที่มีเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในสังกัด เกิดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องคุณสมบัติของผู้ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ที่ถูกต้อง ชัดเจน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งเอกสารหลักฐาน คำขอแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ขั้นตอนกระบวนการในการแต่งตั้ง เพื่อให้ส่วนราชการต้นสักัดได้ชี้แจงกับข้าราชการในสังกัดและหน่วยงานในระดับพื้นที่ที่รับผิดชอบภารกิจในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
2) หน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ที่จะมีการสับเปลี่ยนเจ้หน้าที่ปฏิบัติการเข้าประจำพื้นที่ ควรพิจารณาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ี ความรู้ ความสามารถ ความเหมาะสมและจำนวนเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. เพื่อให้เพียงพอต่อการบังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
2. เกี่ยวกับการใช้อำนาจของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.
เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. อยู่ภายใต้สังกัดของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีจำนวนจำกัด ดังนั้น ควรศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมทั้งในส่วนของกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามกฎหมาย เมื่อมีอำนาจตามกฎหมายแล้ว สิ่งที่ต้องระมัดระวังในการปฏิบัติงานที่สำคัญ คือ กรอบการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดในการปฏิบัติงาน มิใช่ว่ากฎหมายให้อำนาจใช้มาตรการต่างๆ ได้แล้ว จะทำอะไรก็ได้ทุกอย่างหาเป็นเช่นนั้นไม่ การปฏิบัติงานจะต้องเคร่งครัดในการใช้ การตีความและการปฏิบัติตามกฎหมาย
นอกจากนี้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ควรใช้เทคนิคการสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานแบบวิธีพิเศษ เนื่องจากความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นความผิดที่แสวงหาพยานหลักฐานได้ยากลำบาก เป็นขบวนการในรูปแบบขององค์กรอาชญากรรม และมักมีการปกปิดซ่อนเร้น แปรสภาพและทำลายเส้นทางที่เจ้าพนักงานของรัฐสามารถเข้าถึงพยานหลักฐานได้เสมอ ถ้าใช้กระบวนการแสวงหาพยานหลักฐานที่เป็นไปตามหลักนิติธรรม กล่าวคือ ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น อาจเกิดความล่าช้าต่อการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีได้ ดังนั้น เมื่อมีเหตุจำเป็นอาจจะต้องใช้มาตรการทางกฎหมายพิเศษ เช่น การอำพรางตัว การใช้มาตรการส่งมอบยาเสพติดภายใต้การควบคุม หรือการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น
3. เกี่ยวกับเครื่องมือ/อุปกรณ์ในการทำงาน
สำนักงาน ป.ป.ส. ควรสนับสนุนงบประมาณ หรือครุภัณฑ์วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย จากกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ส่วนเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ปฏิบัติการ ควรใช้เครื่องมือทางกฎหมายบางประการที่มีอยู่ให้มีศักยภาสพในการรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด เช่น การเข้าถึงระบบข้อมูลทางโทรศัพท์ หรือช่องทางการตรวจสอบข้อมูลทางการเงินควรใช้อำนาจของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตามมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (7) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519
4. ด้านอื่นๆ
หน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. จะต้องควบคุม กำกับ ดูแล และตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในการใช้อำนาจปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างใกล้ชิด สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง และให้คำปรึกษา แนะนำ และให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เมื่อเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. มีปัญหาอุปสรรคจากการใช้อำนาจของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือถูกฟ้องร้องตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.
#นักเรียนกฎหมาย
6 กันยายน 2561
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น