การโอนงบประมาณรายจ่าย
หลักทั่วไปตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กำหนดไว้ว่า รายจ่ายที่กำหนดไว้สำหรับส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจใด ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จะโอนหรือนำไปใช้สำหรับส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจอื่นไม่ได้
อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวกำหนดข้อยกเว้นให้สามารถทำการโอนงบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการได้ 2 ประการ คือ
1. มีการตราพระราชบัญญัติให้โอนงบประมาณรายจ่ายหรือนำงบประมาณรายจ่ายไปใช้ได้ เช่น
- พระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2507
- พระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2558
- พระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2559
- พระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2560
นอกจากนี้ยังมีการตราพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินหรือแบ่งโครงสร้างของส่วนราชการ ซึ่งกำหนดให้มีการโอนงบประมาณรายจ่าย เช่น
- ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การโอนงบประมาณและข้าราชการของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545
- ประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง การโอนงบประมาณและบุคลากรของสำนักส่งเสริมและพิทักษ์คนพิการ สังกัดสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ ไปเป็นของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550
2. มีการตราพระราชกฤษฎีการวมหรือโอนส่วนราชการเข้าด้วยกัน ให้โอนงบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการที่ถูกโอนหรือรวมเข้าด้วยกันนั้น ไปเป็นของส่วนราชการหรือหน่วยงานที่รับโอนหรือที่รวมเข้าด้วยกัน หรือส่วนราชการที่จัดตั้งขึ้นใหม่ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เช่น
- พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ พ.ศ. 2547 โดยยุบกรมวิเทศสหการ กระทรวงการต่างประเทศ และโอนงบประมาณไปเป็นของสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ หรือส่วนราชการอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
- พระราชกฤษฎีกาโอนกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปเป็นกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงอำนาจหน้าที่และกิจการของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2546 กำหนดให้โอนงบประมาณเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ก็เป็นที่มาของการโอนงบประมาณรายจ่ายด้วย เช่น
- ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 298 ในปี พ.ศ. 2515 ซึ่งตามกฎหมายไทย ถือว่ามีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ
หรือการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี พ.ศ. 2557 ซึ่งต่อมาหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มี คำสั่งที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้มีการโอนงบประมาณเพื่อดำเนินการปฏิรูปการศึกษา
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ในปี พ.ศ. 2560-2561 กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการเพื่อดำเนินการโอนงบประมาณรายจ่าย รวม 5 ฉบับ ได้แก่
โดยสรุป ตามหลักทั่วไปของกฎหมาย จะโอนงบประมาณรายจ่ายไปใช้ที่อื่นไม่ได้ แต่มีข้อยกเว้นของกฎหมายให้สามารถโอนงบประมาณรายจ่ายได้ 2 ประการ คือ 1. ตราเป็นพระราชบัญญัติ 2. พระราชกฤษฎีกา ส่วนวิธีที่ 3. เป็นการโอนงบประมาณรายจ่ายตามคำสั่งของคณะรัฐประหาร
#นักเรียนกฎหมาย
21 กันยายน 2561
อ้างอิง
พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502
มาตรา 18 บัญญัติว่า "รายจ่ายที่กำหนดไว้สำหรับส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจใด ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีก็ดี พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมก็ดี จะโอนหรือนำไปใช้สำหรับส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจอื่นมิได้ เว้นแต่
(1) มีพระราชบัญญัติให้โอนหรือนำไปใช้ได้
(2) ในกรณีที่มีพระราชกฤษฎีการวมหรือโอนส่วนราชการเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะมีผลเป็นการจัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่หรือไม่ก็ตาม ให้โอนงบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการที่ถูกโอนหรือรวมเข้าด้วยกันนั้น ไปเป็นของส่วนราชการหรือหน่วยงานที่รับโอนหรือที่รวมเข้าด้วยกัน หรือส่วนราชการที่จัดตั้งขึ้นใหม่ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว"
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น