คุณสมบัติ เลขาธิการ EEC
มี เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (เลขาธิการ กพอ. หรือเลขาธิการ EEC) รับผิดชอบการดำเนินงานของสำนักงาน EEC และเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน
กฎหมายกำหนดให้ เลขาธิการ EEC จะต้องเป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ตามที่คณะกรรมการนโยบายฯ ประกาศกำหนด
และเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2561 คณะกรรมการนโยบายฯ ได้มีประกาศกำหนดคุณสมบัติของเลขาธิการ EEC และประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันเดียวกัน ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง การกำหนดความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ของผู้ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ดังนี้
1. มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาโท จากสถาบันการศึกษาที่ สำนักงาน ก.พ. รับรอง
2. มีความรู้ในด้านการค้า การลงทุน เศรษฐกิจ การเงินและการคลัง การพัฒนาธุรกิจและบริหารความเสี่ยง ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการประมาณปัจจัยที่มีผลการเปลี่ยนแปลง
3. มีความรู้ในการด้านพัฒนาและการบริหารโครงการโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค
4. มีความเข้าใจและประสบการณ์ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศ รวมถึงการวางแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างบูรณาการ
5. มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการองค์กรขนาดใหญ่ ต่อไปนี้
5.1 เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารสูงสุดของส่วนราชการระดับกรมขึ้นไป รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐเทียบเท่าระดับกรมขึ้นไป และมีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนั้นรวมกันไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ
5.2 เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานภาคเอกชนที่มีรายได้ในขณะดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี และมีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนั้นรวมกันไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ
5.3 เป็นหรือเคยเป็นเลขาธิการ หรือเป็นหรือเคยเป็นพนักงานของสำนักงานซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองเลขาธิการ
นอกจากนี้มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ยังกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นเลขาธิการ EEC ดังนี้
6. มีสัญชาติไทย
7. มีอายุไม่เกิน 65 ปี สามารถทำงานให้แก่สำนักงานได้เต็มเวลา
8. ไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
8.1 เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
8.2 เป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด
8.3 เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
8.4 เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
8.5 เป็นกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง 8.6 เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 23 (ในสัญญาที่ทำกับกับสำนักงานหรือในกิจการที่กระทำหรือจะกระทำให้แก่สำนักงาน ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม)
8.7 เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือเคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเป็นผู้อยู่ในระหว่างต้องห้ามหรือเคยถูกตัดสิทธิมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยเหตุใด
8.8 เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานของเอกชน เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ
8.9 เคยเป็นผู้ต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหารบริษัทมหาชนจำกัด เพราะเหตุมีลักษณะที่แสดงถึงการขาดความเหมาะสมที่จะได้รับความไว้วางใจให้บริหารจัดการกิจการที่มีมหาชนเป็นผู้ถือหุ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
8.10 เคยต้องคำพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
8.11 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดหรือกฎหมายเกี่ยวกับการพนันในฐานความผิดเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก
#นักเรียนกฎหมาย
13 สิงหาคม 2561
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น