การหักเงินเดือนคืนกองทุน กยศ.
วันนี้ (7 สิงหาคม 2561) ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการหักเงินได้พึงประเมินเพื่อชำระเงินกู้ยืมคืนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญดังนี้
1. ให้กระทรวง ทบวง กรม สำนักงานหรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ในฐานะผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ดำเนินการหักเงินได้พึงประเมินของข้าราชการและลูกจ้างประจำในสังกัดซึ่งเป็นผู้กู้ยืมเงิน ตามจำนวนที่กองทุน กยศ. แจ้งให้ทราบ
2. โดยนำส่งผ่านระบบของกรมบัญชีกลางตามกฎหมายว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจ่ายเงินบางประเภทตามงบประมาณรายจ่าย เพื่อให้กรมบัญชีกลางโอนเงินดังกล่าวให้กรมสรรพากรผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ชื่อบัญชี "กรมสรรพากร 1 เพื่อรับชำระเงินคืนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา"
3. ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป
ข้อสังเกตของผู้เขียน
1. เนื่องจากพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) มีหน้าที่หักเงินเพื่อชำระเงินกู้ยืมคืนกองทุน กยศ. ตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ ตามมาตรา 51 ที่กำหนดให้บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร (เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน) มีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน เพื่อชำระเงินกู้ยืมคืนตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ โดยผู้จ่ายเงินได้ไม่ต้องพิจารณาว่าจะหักแค่ไหนอย่างไร เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้หักตามจำนวนที่กองทุน กยศ. แจ้งให้ทราบ
2. ความรับผิดของผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน ถ้าไม่หัก หรือหักแต่ไม่ได้นำส่ง หรือนำส่งแต่ไม่ครบจำนวนหรือหักและนำส่งเกินกำหนดระยะเวลา ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินต้องรับผิดชดใช้เงินที่ต้องนำส่งในส่วนของผู้กู้ยืมเงินตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบและต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินที่ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินยังไม่ได้นำส่งหรือตามจำนวนที่ยังขาดไป แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ นับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดต้องนำส่ง
3. ผลของการหักเงินได้พึงประเมิน ถ้าได้หักเงินไว้แล้ว กฎหมายให้ถือว่าผู้กู้ยืมได้ชำระเงินกู้ตามจำนวนที่หักแล้ว
4. หลักเกณฑ์และวิธีการหักเงินได้พึงประเมิน บทบัญญัติตามมาตรา 51 ดังกล่าวกำหนดให้มีการนำส่งกรมสรรพากรภายในกำหนดระยะเวลานำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด อธิบดีกรมสรรพากรจึงได้ออกประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับแก่ส่วนราชการ โดยนำส่งผ่านระบบของกรมบัญชีกลาง เพื่อให้กรมบัญชีกลางโอนเงินดังกล่าวให้กรมสรรพากรผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ชื่อบัญชี "กรมสรรพากร 1 เพื่อรับชำระเงินคืนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา"
5. วันใช้บังคับ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าว ให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2561 มีผลทำให้เงินเดือน ค่าจ้างฯ ในเดือนกรกฎาคม 2561 จะต้องถูกหักย้อนหลัง
#นักเรียนกฎหมาย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น