เครื่องแบบนักเรียนอิสลาม

          ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน ได้กำหนดเครื่องแบบนักเรียนที่นับถือศาสนาอิสลามในสถานศึกษาอื่น ที่ไม่ใช่สถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลาม คือ 

          สำหรับนักเรียนชาย มีเครื่องแบบ ดังนี้
          (1) เสื้อ ผ้าสีขาว แบบคอเชิ้ต แขนสั้น
          (2) เครื่องหมาย ใช้อักษรย่อ สัญลักษณ์หรือเข็มเครื่องหมายของสถานศึกษาตามที่สถานศึกษากำหนด ปักหรือติดที่อกเสื้อเบื้องขวา
          (3) กางเกง ใช้ผ้าสีเดียวกันกับสีผ้าของกางเกงนักเรียนทั่วไปที่ใช้ในสถานศึกษานั้นขายาวระดับตาตุ่ม ปลายขาพับเข้าด้านใน
          (4) เข็มขัด หนังสีดำหรือสีน้ำตาล หัวเข็มขัดเป็นโลหะรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าชนิดหัวกลัด สำหรับผู้ที่เป็นลูกเสือจะใช้เข็มขัดลูกเสือแทนก็ได้ หรือหัวเข็มขัดเป็นตราของสถานศึกษา
          (5) รองเท้า หนังหรือผ้าใบสีดำหรือสีน้ำตาล แบบหุ้มส้นชนิดผูก
          (6) ถุงเท้า สั้นสีขาว สีน้ำตาล หรือสีดำ

          ส่วนนักเรียนหญิง กำหนดเครื่องแบบ ดังนี้
          (1) เสื้อ ผ้าสีขาวคอปกบัว ผ่าด้านหน้าตลอด แขนยาว ปลายแขนจีบรูดมีสาบกว้างไม่เกิน 5 เซนติเมตร ตัวเสื้อยาวคลุมสะโพก ไม่รัดรูป
          (2) เครื่องหมาย ใช้อักษรย่อ สัญลักษณ์หรือเข็มเครื่องหมายของสถานศึกษาตามที่สถานศึกษากำหนด ปักหรือติดที่อกเสื้อเบื้องขวาและที่ผ้าคลุมศีรษะ
          (3) ผ้าคลุมศีรษะ ใช้ผ้าสีขาวเกลี้ยงไม่มีลวดลาย หรือสีเดียวกันกับสีผ้าของกระโปรง สี่เหลี่ยมจัตุรัส ความยาวด้านละ 100-120 เซนติเมตร ขณะสวมใส่เย็บติดตลอดตั้งแต่ใต้คางจนถึงปลายมุมผ้า
          (4) กระโปรง ใช้ผ้าสีเดียวกันกับสีผ้าของกระโปรงนักเรียนทั่วไปที่ใช้ในสถานศึกษานั้น แบบสุภาพ พับเป็นจีบข้างละสามจีบทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เมื่อสวมแล้วชายกระโปรงคลุมข้อเท้า
          (5) รองเท้า หนังหรือผ้าใบสีดำ มีสายรัดหลังเท้าหรือแบบหุ้มส้น หุ้มปลายเท้ามีส้นสูงไม่เกิน 2 นิ้ว ไม่มีลวดลาย
          (6) ถุงเท้า สั้นสีขาว ไม่มีลวดลาย ปลายถุงเท้าไม่พับ


          อย่างไรก็ตาม อาจเลือกแต่งเครื่องแบบนักเรียนตามรายละเอียดข้างต้น หรือตามแบบที่สถานศึกษากำหนดได้ตามความสมัครใจ ยกเว้นสถานศึกษาที่ขอใช้พื้นที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์เป็นที่ตั้งของสถานศึกษา การแต่งเครื่องแบบนักเรียนให้เป็นไปตามสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างวัดกับสถานศึกษา

ข้อสังเกตของผู้เขียน
          1. เจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน เพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานกลาง ประหยัด มีระเบียบเรียบร้อย และสร้างวินัยให้แก่นักเรียน รวมทั้งเป็นการคุ้มครองมิให้บุคคลอื่นแต่งเครื่องแบบนักเรียนโดยไม่สิทธิ (ผู้ใดแต่งโดยไม่มีสิทธิ หรือแต่งกายเลียนแบบเครื่องแบบนักเรียน ถ้าได้กระทำเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นนักเรียน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท) ตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551
          2. เครื่องแบบนักเรียนที่นับถือศาสนาอิสลามที่ไม่ใช่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามข้างต้น เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 
          3. ระเบียบดังกล่าวกำหนดให้นักเรียนที่นับถือศาสนาอิสลามซึ่งจะต้องปฏิบัติตามหลักศาสนา มีสิทธิที่จะเลือกแต่งกายตามเครื่องแบบที่กำหนดข้างต้น หรือจะแต่งกายตามแบบที่สถานศึกษากำหนดก็ได้ตามความสมัครใจ
          4. อย่างไรก็ตามหากเป็นสถานศึกษาที่ขอใช้พื้นที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์เป็นที่ตั้งสถานศึกษา การแต่งกายจะต้องเป็นไปตามสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างวัดกับสถานศึกษา กล่าวคืออาจมีกรณีที่วัดในพระพุทธศาสนาไม่ประสงค์จะให้มีการแต่งกายด้วยศาสนาอื่นภายในบริเวณวัด จึงเป็นที่มาของการแก้ไขระเบียบกระทรวงศึกษาธิการฯ ฉบับที่ 2 ดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ และมติมหาเถรสมาคม ในกรณีนี้เป็นประเด็นปัญหาที่มีความละเอียดอ่อน อาจขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนในการนับถือศาสนา ซึ่งความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนมองว่า ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อาจแก้ไขได้โดยให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงการศึกษาของเด็กไทยเป็นสำคัญ ซึ่งจะเป็นอนาคตของประเทศไทย จะต้องไม่ติดหล่มความคิดว่าจะใส่เครื่องแบบอิสลามในวัดพุทธได้...หรือไม่ได้ เพราะไม่ได้ทำให้การศึกษาไทยดีขึ้นแต่อย่างใด


#นักเรียนกฎหมาย
8 สิงหาคม 2561 


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542