อดีต-ปัจจุบัน โรคต้องห้ามของการเป็นข้าราชการ (อัพเดต กฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2566)

ในอดีต กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ได้ให้อำนาจ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กำหนดโรคที่เป็นลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือน โดยในยุคนั้นได้มีการออก กฎ ก.พ. ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2497 ว่าด้วยโรค กำหนดห้ามบุคคลที่เป็นโรค 4 ชนิด เข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือน ได้แก่
  1. โรคเรื้อน
  2. วัณโรคในระยะอันตราย
  3. โรคยาเสพติดให้โทษอย่างร้ายแรง
  4. โรคพิษสุราเรื้อรัง

ต่อมา ได้มีการยกเลิกกฎ ก.พ. ฉบับนี้ และให้ใช้ กฎ ก.พ. ฉบับที่ 155 (พ.ศ. 2500) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2497 ว่าด้วยโรค ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติม โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม เป็นโรคที่ต้องห้ามอีก 1 โรค รวมกับโรค 4 ชนิดเดิม เป็น 5 ชนิด 

ภายหลังมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนจึงได้ออก กฎ ก.พ. เพื่อกำหนดโรคที่ต้องห้ามสำหรับการเป็นข้าราชการพลเรือนขึ้น คือ กฎ ก.พ. ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 ว่าด้วยโรค และกำหนดให้โรค 5 ชนิด ตามกฎหมายเดิม เป็นโรคต้องห้ามตามกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2526 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม โรคเรื้อน และ โรคยาเสพติดให้โทษอย่างร้ายแรง พร้อมกับกำหนดโรคต้องห้ามการเป็นข้าราชการพลเรือน ดังนี้
  1. โรคเรื้อนในระยะติดต่อ หรือในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจของสังคม
  2. วัณโรคในระยะอันตราย
  3. โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจของสังคม
  4. โรคติดยาเสพติดให้โทษ
  5. โรคพิษสุราเรื้อรัง

การจัดระเบียบข้าราชการพลเรือนในสมัยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ก็ได้กำหนดโรค 5 ชนิด ดังกล่าว เป็นโรคต้องห้ามในการเป็นข้าราชการพลเรือนเช่นกัน ตาม กฎ ก.พ. ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยโรค  

ลักษณะต้องห้ามของการเป็นโรคดังกล่าว ได้ใช้บังคับต่อเนื่องมาหลายปี จนกระทั่งมีการจัดระเบียบข้าราชการพลเรือนขึ้นอีกครั้งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่ง ก.พ. โดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ได้ออกกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2553 ขึ้น กำหนดให้โรค 5 ชนิด เป็นโรคต้องห้ามสำหรับการเป็นข้าราชการพลเรือน และใช้บังคับจนถึงปัจจุบัน ได้แก่
  1. วัณโรคในระยะแพร่กระจาย
  2. โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจของสังคม
  3. โรคติดยาเสพติดให้โทษ
  4. โรคพิษสุราเรื้อรัง
  5. โรคติดต่ออย่างร้ายแรงหรือโรคเรื้อรัง ที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรง และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ตามที่ ก.พ. กำหนด

24 สิงหาคม 2561

***************************
อัพเดต โรคต้องห้ามของการเป็นข้าราชการ ตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2566
***************************
ปัจจุบันได้มีการประกาศใช้ กฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2566 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140/ตอนที่ 49 ก/หน้า 27/18 สิงหาคม 2566 กำหนดให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันถัดจากันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2566) กำหนดโรคที่เป็นลักษณะต้องห้ามของข้าราชการพลเรือนไว้ 4 ข้อ ดังนี้
  1. โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
  2. โรคติดยาเสพติดให้โทษ
  3. โรคพิษสุราเรื้อรัง
  4. โรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรง และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่
 
กฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2566 ดังกล่าว ได้ระบุเหตุผลในการประกาศใช้ เนื่องจากปัจจุบันมีโรคเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก ทั้งโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ ซึ่งโรคดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของข้าราชการ ประกอบกับกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2553 บังคับใช้มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี จึงอาจมีความไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์โรคในปัจจุบัน ดังนั้น เพื่อให้ทางราชการได้มาและรักษาไว้ซึ่งบุคคลที่เป็นผู้มีสุขภาพทางกายและจิตเหมาะสม และไม่เป็นโรคร้ายแรงที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการ เข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือน เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา / คลิกดาวน์โหลดไฟล์

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542