เบี้ยประชุมกรรมการ


          คืนวันที่ 16 สิงหาคม 2561 ผู้เขียนได้รับโทรศัพท์จากรุ่นพี่ในที่ทำงาน สอบถามเกี่ยวกับเบี้ยประชุมคณะอนุกรรมการ ว่าประธานอนุกรรมการ อนุกรรมการ และที่ปรึกษาอนุกรรมการ ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (คณะกรรมการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย) มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมหรือไม่ หากได้ จะได้รับในอัตราเท่าไรจึงจะถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากจะมีการจัดประชุมคณะอนุกรรมการในวันรุ่งขึ้น (วันที่ 17 สิงหาคม 2561) 
          ภายในคืนนั้น ผู้เขียนจึงได้ค้นหากฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง และได้ตอบคำถามดังกล่าว จนมีการประชุมคณะอนุกรรมการเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย 
          ผู้เขียนจึงขอนำหลักกฎหมายและระเบียบในเรื่องนี้ มาเรียบเรียงเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง

          พระราชบัญญัติการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจ่ายเงินบางประเภทตามงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2518 มาตรา 3 (4) กำหนดให้การจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายเบี้ยประชุมกรรมการ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจ่ายเงิน วิธีการเบิกจ่าย อัตราการจ่าย ของผู้มีสิทธิได้รับเงินนั้นและหลักเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้อง 
          ต่อมาได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2523 ขึ้นใช้บังคับ และแก้ไขเพิ่มเติมอีกหลายฉบับ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2547 ได้ตรา พระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2547 ใช้บังคับ มีผลเป็นการยกเลิกพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2523 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังกล่าว 
          ปัจจุบันหลักเกณฑ์การเบิกเบี้ยประชุมกรรมการจึงบังคับตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2547 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมอีก 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2550) และฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2555) โดยมีหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเบี้ยประชุม (ทั้งรายเดือน และรายครั้ง) ดังนี้


          1. คำจำกัดความที่สำคัญ
              1.1 คณะกรรมการ หมายถึง คณะกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งและกำหนดองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ไว้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกาศพระบรมราชโองการ หรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งออกตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือโดยประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัดซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
              1.2 คณะอนุกรรมการ หมายถึง คณะอนุกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกาศพระบรมราชโองการ หรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งออกตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือโดยประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัดซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี หรือโดยคณะกรรมการที่มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการได้
              1.3 ที่ปรึกษาคณะกรรมการ หมายถึง ที่ปรึกษาซึ่งได้รับแต่งตั้งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือโดยประกาศพระบรมราชโองการ ให้เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการ

          2. การจัดทำรายชื่อคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และกำหนดอัตราเบี้ยประชุม 
          กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน มีหน้าที่ร่วมกันจัดทำรายชื่อคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ ที่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายเดือน และกำหนดอัตราเบี้ยประชุมเป็นรายเดือนและรายครั้ง สำหรับกรรมการ อนุกรรมการ เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ
          อัตราเบี้ยประชุมดังกล่าวจะต้องไม่เกินอัตราที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เมื่อจัดทำรายชื่อ และอัตราเบี้ยประชุมเสร็จแล้ว ให้เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบและประกาศกำหนด 
          ปัจจุบันคือ ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดรายชื่อคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการที่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายเดือน และอัตราเบี้ยประชุมเป็นรายเดือนและเป็นรายครั้งสำหรับกรรมการ อนุกรรมการ เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 
          ดังนั้น คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการที่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายเดือน จะต้องมีรายชื่ออยู่ในบัญชีตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว หากไม่อยู่ในบัญชีนี้ก็จะได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง

          3. เบี้ยประชุมรายเดือน 
          คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดแล้ว มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายเดือน และให้ได้รับเบี้ยประชุมเฉพาะในเดือนที่เข้าร่วมประชุมเท่านั้น
              3.1 คณะกรรมการ สำหรับกรรมการในคณะกรรมการ ซึ่งมีภาระหน้าที่และความรับผิดชอบสูง ปฏิบัติงานในด้านการกำหนดนโยบายอันมีผลกระทบต่อการบริหาร เศรษฐกิจหรือสังคมในภาพรวมของประเทศ ทั้งนี้ คณะกรรมการแต่ละคณะจะได้รับเบี้ยประชุมไม่เท่ากัน เป็นไปตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด  
              เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) ประธานกรรมการได้ 10,000 บาท รองประธานกรรมการได้ 9,000 บาท กรรมการได้ 8,000 บาท 
              หรือ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ประธานกรรมการได้ 6,250 บาท กรรมการได้ 5,000 บาท (อัตราเบี้ยประชุมรายเดือนต่อคน) เป็นต้น               
              สำหรับ ที่ปรึกษาคณะกรรมการ ให้ได้รับเบี้ยประชุมในอัตราเดียวกับกรรมการ หากคณะกรรมการได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายเดือน ก็ให้ที่ปรึกษาคณะกรรมการได้รับเบี้ยประชุมเฉพาะเดือนที่เข้าร่วมประชุม
              3.2 คณะอนุกรรมการ ตามรายชื่อคณะอนุกรรมการและอัตราเบี้ยประชุมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด  
              เช่น คณะอนุกรรมการเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องค้าส่งค้าปลีก (ในคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า) ประธานอนุกรรมการได้ 5,000 บาท อนุกรรมการได้ 4,000 บาท (อัตราเบี้ยประชุมรายเดือนต่อคน) เป็นต้น

          4. เบี้ยประชุมรายครั้ง 
          คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการนอกเหนือจากข้อ 3 ดังกล่าว มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมตามอัตราที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด (อัตราเบี้ยประชุมต่อคนต่อครั้ง) และให้ได้รับเบี้ยประชุมสำหรับการประชุมเพียงครั้งเดียวในวันหนึ่ง
              4.1 คณะกรรมการ ให้ได้รับเบี้ยประชุมดังนี้
              - ประธานกรรมการ 1,600 บาท + 400 บาท (1 ใน 4 ของ 1,600 บาท) = 2,000 บาท
              ถ้าประธานกรรมการไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ ให้ผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้รับเบี้ยประชุมในอัตราของประธานกรรมการ
              - รองประธานกรรมการ 1,600 บาท + 200 บาท (1 ใน 8 ของ 1,600 บาท) = 1,800 บาท
              - กรรมการ 1,600 บาท
              - เลขานุการ 1,600 บาท ได้ไม่เกิน 1 คน
              - ผู้ช่วยเลขานุการ 1,600 บาท ได้ไม่เกิน 2 คน
              ถ้ากรรมการเป็นเลขานุการหรือผู้ช่วยเลขานุการด้วย ให้เบิกเบี้ยประชุมได้เพียงตำแหน่งเดียว
              สำหรับ ที่ปรึกษาคณะกรรมการ ให้ได้รับเบี้ยประชุมในอัตราเดียวกับกรรมการ หากคณะกรรมการได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง ก็ให้ที่ปรึกษาคณะกรรมการได้รับเบี้ยประชุมเพียงครั้งเดียวในวันหนึ่ง
              4.2 คณะอนุกรรมการ ได้ตามอัตราที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด 
              สำหรับอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง หรือกรม อนุกรรมการสามัญประจำจังหวัด หรืออนุกรรมการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ให้ได้รับเบี้ยประชุมเฉพาะอนุกรรมการที่ไม่ได้เป็นข้าราชการของส่วนราชการนั้น 
ตามอัตราเบี้ยประชุมต่อคนต่อครั้ง ดังนี้ 
              - ประธานอนุกรรมการ 1,000 บาท + 250 บาท (1 ใน 4 ของ 1,000 บาท) = 1,250 บาท
              ถ้าประธานอนุกรรมการไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ ให้ผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้รับเบี้ยประชุมในอัตราของประธานอนุกรรมการ
              - รองประธานอนุกรรมการ 1,000 บาท + 125 บาท (1 ใน 8 ของ 1,000 บาท) = 1,125 บาท
              - อนุกรรมการ 1,000 บาท
              - เลขานุการ 1,000 บาท ได้ไม่เกิน 1 คน
              - ผู้ช่วยเลขานุการ 1,000 บาท ได้ไม่เกิน 2 คน
              ถ้าอนุกรรมการเป็นเลขานุการหรือผู้ช่วยเลขานุการด้วย ให้เบิกเบี้ยประชุมได้เพียงตำแหน่งเดียว

          5. การประชุมของคณะกรรมการหรืออนุกรรมการ จะต้องครบองค์ประชุมตามกฎหมายจึงจะมีสิทธิเบิกเบี้ยประชุมตามพระราชกฤษฎีกานี้ได้

          6. กรณีที่กรรมการหรืออนุกรรมการซึ่งเป็นการแต่งตั้งโดยตำแหน่ง ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ แต่ได้มอบหมายให้ผู้อื่นเข้าร่วมประชุมแทนโดยทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานการมอบหมาย ให้ถือว่าผู้ได้รับมอบหมายปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการหรืออนุกรรมการแทนผู้ดำรงตำแหน่งนั้นๆ และให้นับเป็นองค์ประชุม ตลอดจนมีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมในอัตราเดียวกับกรรมการหรืออนุกรรมการนั้น
#นักเรียนกฎหมาย
18 สิงหาคม 2561


อ้างอิง



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542