การฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นหรืออาศัยความเบาปัญญา
การฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น หรืออาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 เป็นการสรุปสาระสำคัญโดยยึดหนังสือของท่านอาจารย์วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์ กฎหมายอาญาพิสดาร เล่ม 2 (ฉบับปรับปรุงใหม่ปี 2560) เป็นหลัก ประกอบกับตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาจากเว็บไซต์ศาลฎีกา
หลักเกณฑ์ตามข้อ 1
การแสดงตนเป็นคนอื่น นั้น ต้องเป็นการแสดงว่าตนเองเป็นบุคคลอื่น แม้จะไม่มีตัวตนอยู่จริง ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้ และเมื่อปรับบทความผิดตามมาตรา 342 แล้ว ก็ไม่ต้องปรับบทตามมาตรา 341 อีก
แต่ถ้าแสดงตนเองว่ามีฐานะใดฐานะหนึ่งอันเป็นเท็จ ก็ไม่ใช่การแสดงตนเองเป็นคนอื่น ไม่ผิดมาตรา 342 เช่น แสดงตนว่าเป็นผู้จัดการบริษัท หรือแสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ไม่ผิด 342 (1) แต่อาจผิด 341
ตัวอย่างคำพิพากษา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20/2546 การที่จำเลยนำ น.ส.3 ก. ที่ระบุชื่อ ส. และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของ ส. ซึ่งเลอะเลือนมองเห็นไม่ชัดเจนมาแสดงต่อผู้เสียหายเพื่อขอกู้ยืมเงิน ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าจำเลยคือ ส. เจ้าของที่ดินตาม น.ส.3 ก. ที่แท้จริง จึงตกลงให้จำเลยกู้ยืมเงินไปนั้น เป็นความผิดฐานฉ้อโกงผู้อื่นโดยการแสดงตนเป็นคนอื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10552/2553 แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะบรรยายว่า จำเลยโดยเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายที่ 2 ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและด้วยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่น แต่ตามทางพิจารณาที่ได้ความนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยหลอกลวง ส. มารดาผู้เสียหายที่ 2 มิใช่หลอกลวงผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของเงินก็ตาม แต่เมื่อผู้เสียหายที่ 2 เป็นเจ้าของเงินที่ให้กู้ และเป็นผู้ทำสัญญากู้ในฐานะผู้ให้กู้เงินที่จำเลยผู้กู้นำโฉนดที่ดินของบุคคลอื่นมาหลอกลวงดังกล่าว เพื่อให้ได้เงินที่กู้ยืมไป ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยแล้ว
จำเลยหลอกลวงด้วยการทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นบุคคลเดียวกับ ป. ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินที่จำเลยนำมาเป็นหลักประกันในการกู้เงินจากผู้เสียหายที่ 2 จากการหลอกลวงดังกล่าวทำให้ได้ไปซึ่งเงินจากผู้เสียหายที่ 2 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
ส่วนหลักเกณฑ์ตามข้อ 2
อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก ตามพจนานุกรม ได้ให้ความหมายของความเบาปัญญา คือ การหย่อนความคิด หย่อนสติปัญญา หรือรู้ไม่เท่าทัน เนื่องจากเด็กคงมีวุฒิภาวะไม่เท่าผู้ใหญ่ กฎหมายจึงมุ่งคุ้มครองเหตุดังกล่าว
สำหรับการฉ้อโกงโดยอาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง คือ บุคคลที่มีความนึกคิดอ่อนแอไม่เข้มแข็ง หรือป่วยทางจิต ซึ่งอาจถูกหลอกลวงได้ง่าย
ตัวอย่างคำพิพากษา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 274/2559 การที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงเอาทรัพย์ไปจากผู้เสียหายที่ 1 ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 มีอาการป่วยทางจิต ซึ่งเป็นบุคคลที่มีภาวะแห่งจิตต่ำกว่าปกติ และย่อมถูกหลอกลวงได้โดยง่ายกว่าคนปกติทั่วไปนั้น ถือเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงโดยอาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้เสียหายที่ 1 ผู้ถูกหลอกลวง จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 342 (2) หาใช่เป็นเพียงความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่
แต่เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมมิได้ฎีกา ศาลฎีกาจึงเพียงแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสี่เสียใหม่ให้ถูกต้อง แต่ก็ไม่อาจเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสี่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
ที่มา
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554
ระบบสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3839/2526 โจทก์นอกจากจะได้กล่าวในฟ้องในตอนต้นและตอนท้ายว่า จำเลยหลอกลวงโจทก์อาศัยความโง่เขลาเบาปัญญาและความอ่อนแอแห่งจิตของโจทก์แล้ว โจทก์ยังบรรยายข้อความที่จำเลยหลอกลวงโจทก์อีกว่า เหล็กไหลสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่โจทก์กำลังเป็นอยู่นั้นให้หายขาดได้ ซึ่งพอเป็นที่เข้าใจได้ว่า ความอ่อนแอแห่งจิตของโจทก์เนื่องมาจากความเจ็บป่วย และคำว่าโง่เขลาเบาปัญญาก็แสดงอยู่ว่าโจทก์นั้นถูกหลอกลวงให้หลงเชื่อได้ง่ายกว่าคนมีจิตปกติ ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342(2) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว
#นักเรียนกฎหมาย
15 สิงหาคม 2561
ที่มา
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554
ระบบสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น