การยุติข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐ และการดำเนินคดี
สาระสำคัญของการพิจารณาชี้ขาดการยุติข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐและการดำเนินคดี เป็นไปตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพิจารณาขี้ขาดการยุติข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐและการดำเนินคดี พ.ศ. 2561 โดยมี 4 เรื่องหลัก ดังนี้
1. ความหมาย
2. คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐและการดำเนินคดี (กยพ.)
3. การพิจารณาข้อพิพาทเพื่อยุติการดำเนินคดีระหว่างหน่วยงานของรัฐ
4. การพิจารณาดำเนินคดีระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน
1. ความหมาย
3. การพิจารณาข้อพิพาทเพื่อยุติการดำเนินคดีระหว่างหน่วยงานของรัฐ
1.1 คดี หมายถึง คดีแพ่ง คดีปกครอง คดีประเภทอื่นซึ่งมิใช่คดีอาญา และคดีซึ่งต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ
1.2 ข้อพิพาท หมายถึง ข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐ ซึ่งต้องมีการดำเนินคดีเกี่ยวกับข้อโต้แย้งดังกล่าว
1.3 คู่กรณี หมายถึง หน่วยงานของรัฐซึ่งมีข้อพิพาทระหว่างกัน
1.4 หน่วยงานของรัฐ หมายถึง ราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
2. คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐและการดำเนินคดี (กยพ.)
2.1 คณะกรรมการ จำนวน 8 คน ประกอบด้วย
1) ประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
2) กรรมการ ปลัดกระทรวงการคลัง
3) ปลัดกระทรวงยุติธรรม
4) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
5) เลขาธิการคณะรัฐมนตรี
6) อัยการสูงสุด
7) กรรมการและเลขานุการ คือ อธิบดีอัยการ สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ
8) กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ คือ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ ที่อัยการสูงสุดมอบหมาย 1 คน
2.2 หน้าที่และอำนาจ
1) พิจารณาชี้ขาดการยุติข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐ
2) พิจารณาชี้ขาดความเห็นแย้ง กรณีอัยการสูงสุดเห็นว่าควรยุติการดำเนินคดีของหน่วยงานของรัฐ
3) ดำเนินการเกี่ยวกับข้อพิพาทซึ่งอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี ตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
4) เสนอแนะความเห็นและแนวทางปฏิบัติในการยุติข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐ การดำเนินคดี และเรื่องที่เกี่ยวข้องต่อคณะรัฐมนตรี
5) เรียกให้คู่กรณี หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง หรือบุคคลใด มาชี้แจงข้อเท็จจริง จัดส่งเอกสารหรือพยานหลักฐาน จัดทำคำแปลภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย และให้ผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐาน เพื่อประกอบการพิจารณา
6) วางระเบียบหรือแนวปฏิบัติ เพื่อให้การดำเนินการตามระเบียบนี้ เป็นไปโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
2.3 การประชุม องค์ประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด (ไม่น้อยกว่า 4 คน) การลงมติให้ถือเสียงข้างมาก โดยให้กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
2.4 มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใด
2.5 สำนักงานเลขานุการ คือ สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ สำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้
1) ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานจากคู่กรณีทุกฝ่าย เพื่อทำความเห็นเสนอต่ออัยการสูงสุด
2) เรียกคู่กรณี หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง หรือบุคคลใดมาชี้แจงข้อเท็จจริง จัดส่งเอกสารหรือพยานหลักฐาน จัดทำคำแปลภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย และให้ผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐาน
3) เข้าตรวจหรือดำเนินการให้มีการตรวจสถานที่ ทรัพย์สิน หรือยานพาหนะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4) ปฏิบัติงานธุรการ งานการประชุม และจัดทำรายงานการประชุมของคณะกรรมการ
5) รวบรวมและจัดทำงานวิชาการของคณะกรรมการ และศึกษาหาข้อมูลต่างๆ
6) จัดพิมพ์และเผยแพร่คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการ
7) ดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับงานของคณะกรรมการหรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในการดำเนินการตามข้อ 2) และ 3) ให้คู่กรณีเป็นผู้ชำระตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด
3.1 เมื่อมีข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐ ให้คู่กรณีฝ่ายที่เรียกร้องแจ้งข้อเรียกร้องหรือข้อโต้แย้งสิทธิไปยังคู่กรณีฝ่ายที่ถูกเรียกร้อง โดยระบุข้อเท็จจริงและข้อเรียกร้อง
3.2 หากคู่กรณีฝ่ายที่ถูกเรียกร้องเห็นว่า มีพยานหลักฐานว่าตนต้องรับผิดและไม่ติดใจโต้แย้งในเรื่องจำนวนค่าเสียหาย ให้คู่กรณีฝ่ายที่ถูกเรียกร้องดำเนินการตามข้อเรียกร้องหรือชำระค่าเสียหายให้แก่คู่กรณีฝ่ายที่เรียกร้องให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
3.3 ในกรณีไม่อาจยุติได้ภายในเวลาอันสมควร เนื่องจากคู่กรณีฝ่ายที่ถูกเรียกร้องปฏิเสธหรือไม่ยอมชำระหนี้ ให้คู่กรณีฝ่ายที่เรียกร้องเสนอข้อพิพาทไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด ภายในอายุความหรือกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี เพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป ดังนี้
1) ทำหนังสือเสนอข้อพิพาทไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งลงนามโดยผู้มีอำนาจกระทำการแทนคู่กรณีฝ่ายที่เรียกร้อง หรือมีหลักฐานการมอบอำนาจกระทำการแทนด้วย
2) เมื่อคู่กรณีฝ่ายที่เรียกร้องเสนอข้อพิพาทแล้ว ห้ามคู่กรณีฝ่ายที่ถูกเรียกร้องยกอายุความหรือกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีขึ้นต่อสู้ในภายหลัง
3) เพื่อประโยชน์ในการนับอายุความหรือกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี ในกรณีส่งหนังสือเสนอข้อพิพาททางไปรษณีย์ ให้กระทำโดยวิธีส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน และให้ถือว่าวันที่ส่งหนังสือแก่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์เป็นวันที่ยื่นหนังสือเสนอข้อพิพาทต่อสำนักงานอัยการสูงสุด
ทั้งนี้ หากคู่กรณีฝ่ายที่ถูกเรียกร้อง ประสงค์ใช้สิทธิเรียกร้องแย้ง ก็ให้ดำเนินการตามข้อ 3.3 นี้โดยอนุโลม
3.4 เมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดได้รับหนังสือเสนอข้อพิพาทแล้ว ให้พิจารณาดำเนินการดังนี้
1) มีหนังสือแจ้งข้อเรียกร้องของคู่กรณีฝ่ายที่เรียกร้องไปยังคู่กรณีฝ่ายที่ถูกเรียกร้อง เพื่อให้ชี้แจงแก้ข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยให้ชี้แจงข้อเท็จจริงและเหตุผลว่าจะรับหรือปฏิเสธความรับผิดภายในระยะเวลาที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด
ถ้าคู่กรณีฝ่ายที่ถูกเรียกร้อง ไม่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและเหตุผลภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่าคู่กรณีฝ่ายที่ถูกเรียกร้องสละสิทธิในการชี้แจง และให้สำนักงานอัยการสูงสุดำเนินการต่อไป
2) เปิดโอกาสให้คู่กรณีรับทราบข้อเท็จจริงและตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ รวมทั้งชี้แจงและแสดงพยานหลักฐานประกอบข้ออ้างหรือข้อเถียงของตนตามควรแก่กรณี
3) สำนักงานอัยการสูงสุดมีอำนาจไกล่เกลี่ยให้คู่กรณีได้ตกลงกัน หรือประนีประนอมยอมความกันในข้อพิพาท
4) อัยการสูงสุดทำคำวินิจฉัยเกี่ยวกับความรับผิดตามข้อเรียกร้อง โดยให้สำนักงานอัยการสูงสุดมีหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยให้คู่กรณีทราบ เพื่อให้คู่กรณีได้มีโอกาสเจรจาตกลงกัน หรือแสดงเหตุผลโต้แย้งคำวินิจฉัยดังกล่าว และให้คู่กรณีแจ้งผลการเจรจาตกลงหรือเหตุผลในการโต้แย้งคำวินิจฉัยภายในระยะเวลาที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด
4.1) ถ้าคู่กรณีทุกฝ่ายเห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของอัยการสูงสุด ให้คำวินิจฉัยนั้นเป็นอันยุติและผูกพันคู่กรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม
4.2) ถ้าไม่ปรากฏว่าคู่กรณีทุกฝ่ายเห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของอัยการสูงสุด หรือคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้แสดงเหตุผลโต้แย้งคำวินิจฉัยของอัยการสูงสุด ให้สำนักงานอัยการสูงสุดเสนอข้อพิพาทดังกล่าว ต่อ คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐและการดำเนินคดี (กยพ.) เพื่อพิจารณาชี้ขาดต่อไป
3.5 ให้คณะกรรมการ กยพ. พิจารณาชี้ขาดข้อพิพาทของคู่กรณี และมีคำวินิจฉัย
1) ให้คำวินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุด โดยให้สำนักงานอัยการสูงสุดมีหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยชี้ขาดให้คู่กรณีทราบ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการได้รับรองมติเกี่ยวกับข้อพิพาท เพื่อให้คู่กรณีถือปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาด
2) หากปรากฏว่าคู่กรณีฝ่ายที่ต้องรับผิด ไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการ กยพ. ภายในเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยชี้ขาด ให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมีหนังสือแจ้งให้สำนักงานอัยการสูงสุดทราบ
ให้สำนักงานอัยการสูงสุดมีหนังสือแจ้งเตือนคู่กรณีฝ่ายที่ต้องรับผิดให้ปฏิบัติตาม หากยังเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตาม ให้มีหนังสือเสนอให้ประธานกรรมการมีหนังสือถึงรัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือผู้มีอำนาจกำกับหรือควบคุมดูแลหน่วยงานของรัฐแห่งนั้น เพื่อแจ้งให้คู่กรณีฝ่ายที่ต้องรับผิดปฏิบัติตาม และหากยังคงเพิกเฉยอยู่อีก ให้ประธานกรรมการเสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควรต่อไป
3) กรณีที่คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการ กยพ. อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียของบุคคลภายนอกซึ่งไม่อาจยุติได้ในฝ่ายบริหาร คณะกรรมการ กยพ. จะไม่พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้
4) การทบทวนคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการ กยพ. จะกระทำได้เมื่อมีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญ และไม่อาจเสนอได้ก่อนการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการ กยพ.
5) สำนักงานอัยการสูงสุดมีหน้าที่จัดทำรายงานสรุปคำวินิจฉัยชี้ขาด เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบทุก 6 เดือน
4. การพิจารณาดำเนินคดีระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน
4.1 การส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อดำเนินคดีแพ่ง
1) กรณีหน่วยงานของรัฐมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่กับเอกชนในทางแพ่ง หรือจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล ให้ส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการซึ่งมีหน้าที่และอำนาจดำเนินคดีเรื่องนั้นโดยตรง
2) รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ดำเนินธุรกิจการค้าหรือการบริการเป็นปกติธุระ และมีข้อพิพาทอันเกี่ยวกับธุรกิจการค้าหรือการบริการนั้น อาจดำเนินคดีเองโดยไม่ส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการดำเนินการก็ได้
3) การฟ้องร้องคดีทุกประเภท ให้หน่วยงานของรัฐเร่งรัดเจ้าหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วน และรีบส่งเรื่องไปยังพนักงานอัยการก่อนครบกำหนดอายุความไม่น้อยกว่า 3 เดือน เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
4) หน่วยงานของรัฐที่ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการหรือดำเนินคดีเอง อาจว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อช่วยดำเนินการในเรื่องนั้นด้วยก็ได้
5) ในข้อพิพาทที่มีความจำเป็นจะต้องใช้ความรู้ทางเทคนิคเฉพาะในประเด็นอันเป็นสาระสำคัญแห่งคดีหรือการดำเนินคดีในต่างประเทศ หน่วยงานของรัฐสามารถจ้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านดำเนินคดีได้
6) การพิจารณาของพนักงานอัยการ
6.1) ถ้าเห็นว่าคดีนั้นหน่วยงานของรัฐอยู่ในฐานะเสียเปรียบหรือการดำเนินคดีไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือไม่คุ้มค่า ให้แจ้งฐานะคดีและความเห็นควรยุติเรื่องให้หน่วยงานของรัฐพิจารณา
6.1.1) หากหน่วยงานของรัฐเห็นพ้องด้วยกับความเห็นของพนักงานอัยการ ให้การดำเนินคดีเรื่องนั้นเป็นอันยุติ
6.1.2) หากหน่วยงานของรัฐมีความเห็นขัดหรือแย้งกับความเห็นของพนักงานอัยการ ให้แจ้งความเห็นไปยังพนักงานอัยการ และให้พนักงานอัยการส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณา
- ถ้าอัยการสูงสุดเห็นพ้องกับหน่วยงานของรัฐ ให้แจ้งพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการต่อไป
- ถ้าอัยการสูงสุดเห็นแตกต่างจากความเห็นของหน่วยงานของรัฐ ให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ กยพ. พิจารณา
--- ซึ่งถ้าคณะกรรมการ กยพ. เห็นพ้องกับความเห็นของอัยการสูงสุด ให้มติของคณะกรรมการ กยพ. ผูกพันหน่วยงานของรัฐ
--- แต่หากคณะกรรมการ กยพ. เห็นควรให้ดำเนินคดีต่อไป ให้อัยการสูงสุดพิจารณาดำเนินการตามมติของคณะกรรมการ กยพ.
6.2) กรณีคดีใดจะขาดอายุความฟ้องร้อง ให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ โดยไม่ต้องรอผลการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการ กยพ.
4.2 การอุทธรณ์ ฎีกา การยื่นคำให้การ และการยื่นคำร้องอื่นใด
ให้นำความเกี่ยวกับการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ (ข้อ 4.1) มาใช้บังคับโดยอนุโลม
4.3 การดำเนินคดีปกครอง
กรณีหน่วยงานของรัฐมีข้อโต้แย้งกับเอกชนเป็นคดีปกครอง หรือกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐตกเป็นคู่กรณีในคดีปกครอง ให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นคู่กรณีส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการซึ่งมีหน้าที่และอำนาจดำเนินคดีปกครองโดยตรงดำเนินการ เว้นแต่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น มีเจ้าหน้าที่หรือนิติกรซึ่งมีความรู้ความสามารถอยู่แล้วและประสงค์จะดำเนินคดีเอง ก็ให้ดำเนินการได้ และให้นำความในเกี่ยวกับการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ (ข้อ 4.1 , 4.2) มาใช้บังคับกับการดำเนินคดีปกครองโดยอนุโลม
4.4 การดำเนินคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ
กรณีหน่วยงานของรัฐมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่กับเอกชน ในคดีแพ่งหรือคดีปกครองที่ต้องใช้อนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทก่อนนำคดีขึ้นสู่ศาล ให้ส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการซึ่งมีหน้าที่และอำนาจดำเนินคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการโดยตรงดำเนินการ และให้นำความเกี่ยวกับการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ (ข้อ 4.1 , 4.2) มาใช้บังคับกับการดำเนินคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการโดยอนุโลม
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น