ห้ามผลิด นำเข้า หรือจำหน่ายอาหารที่มีไขมันทรานส์

          มาตรการทางกฎหมายที่ใช้ในการควบคุมอาหารอย่างหนึ่ง คือ การกำหนดอาหารที่ห้ามผลิด นำเข้า หรือจำหน่าย เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยในการบริโภคอาหารต่างๆ ตามมาตรา 6 (8) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย เพื่อประโยชน์ในการควบคุมอาหาร

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยกำหนดอาหาร 2 ประเภท ต่อไปนี้ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย
          1. น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน 
          2. อาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ 

          เนื่องจากปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่า กรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids) จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) ส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยประกาศฉบับนี้ ให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ข้อสังเกตของผู้เขียน
          1. ประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้มีผลใช้บังคับในวันที่ 11 ตุลาคม 2561 
          2. ผู้ที่ฝ่าฝืนผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายน้ำมัน/อาหารที่มีน้ำมันฯ (ไขมันทรานส์) ดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท (ตามมาตรา 50)  
          3. ไขมันทรานส์ คืออะไร สรุปจาก เว็บไซต์ BBC ไทย ได้ว่า ไขมันทรานส์ถูกคิดค้นขึ้นเมื่อช่วงปลายศตวรรษที่ผ่านมา โดยการเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลของน้ำมันพืช เพื่อทำให้น้ำมันพืชสามารถคงสภาพแข็งตัวหรือกึ่งแข็งกึ่งเหลว และมีอายุเก็บไว้ได้นานกว่าเดิม 
มักพบได้ในอาหารและขนม เช่น เบเกอรี่ โดนัท ที่ใช้เนยขาว เนยเทียม ครีมเทียม หรือมาการีน เป็นส่วนผสม 
          เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะเพิ่มระดับไขมันเลว (LDL) และลดไขมันดี (HDL) ในเส้นเลือด ซึ่งนำไปสู่โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ รวมถึงโรคเบาหวานอีกด้วย 
          โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 องค์การอนามัยโลก เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกห้ามการใช้ไขมันทรานส์ ซึ่งพบว่ามีความเชื่อมโยงต่ออัตราการเสียชีวิตก่อนวัยหลายล้านราย 
          องค์การอนามัยโลกเชื่อว่า หากสามารถกำจัดไขมันทรานส์ให้หมดไปจากอุตสาหกรรมอาหารโลกภายในปี 2023 อาจช่วยรักษาชีวิตของประชากรโลกได้กว่า 10 ล้านคน

#นักเรียนกฎหมาย
11 สิงหาคม 2561


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542