การเปลี่ยนผ่านกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด สู่ "ประมวลกฎหมายยาเสพติด"
ประมวลกฎหมายยาเสพติดจะเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป วันนี้เราจะมาทำความรู้จักบทบัญญัติในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน จากกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดหลาย ๆ ฉบับ ไปสู่การเป็น "ประมวลกฎหมายยาเสพติด" กันครับ
1. ประมวลกฎหมายยาเสพติด
ประมวลกฎหมายยาเสพติด เป็นการจัดหมวดหมู่ของกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นระบบ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเป็นการรวมกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกันให้มีความเชื่อมโยงกัน ได้แก่ กฎหมายการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กฎหมายยาเสพติดให้โทษ กฎหมายป้องกันการใช้สารระเหย กฎหมายมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด กฎหมายฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กฎหมายวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
สำหรับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 ไม่ได้ถูกรวบไว้ในประมวลกฎหมายยาเสพติด และยังได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นอีกฉบับ คือ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564
2. การยกเลิกกฎหมาย
เมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดใช้บังคับแล้ว จะยกเลิกกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
2.1 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2.2 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2.3 พ.ร.ก.ป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2.4 พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2.5 พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545
2.6 พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559
2.7 ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 108/2557 เรื่อง การปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด เพื่อเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟูและการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 รวมทั้งประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง
3. การอ้างอิงบทบัญญัติตามกฎหมาย (เก่า)
เมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดใช้บังคับแล้ว หากบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดอ้างถึงบทบัญญัติตามกฎหมาย (เก่า) ซึ่งถูกยกเลิกโดยประมวลกฎหมายยาเสพติด ให้ถือว่าเป็นการอ้างถึงบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ในบทมาตราที่มีนัยเช่นเดียวกัน
4. อนุบัญญัติตามกฎหมาย (เก่า) ยังคงใช้ได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดแย้ง หรือมีการออกอนุบัญญัติใหม่
บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามกฎหมาย (เก่า) ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายยาเสพติด หรือจนกว่าจะมีการออกกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศตามประมวลกฎหมายยาเสพติดหรือกฎหมายวิธีพิจารณาคดียาเสพติด
ส่วนกรณีที่ประมวลกฎหมายยาเสพติด บัญญัติให้การลงโทษผู้กระทำผิด หรือการขออนุญาต การอนุญาต หรือการปฏิบัติการที่กำหนด ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศ จะใช้บังคับได้ต่อเมื่อมีการออกกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศนั้นแล้ว
5. การอนุญาตในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
ในระหว่างยังไม่มีกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
5.1 ให้ผู้อนุญาต หรือผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด มีอำนาจพิจารณาอนุญาตการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย มีไว้ในครอบครอง นำผ่าน หรือโฆษณายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ การผลิดหรือนำเข้าตัวอย่างของตำรับวัตถุออกฤทธิ์ การขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 หรือตำรับวัตถุออกฤทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 หรือ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ต่อไป เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายยาเสพติด
5.2 ผู้ได้รับการยกเว้นให้ผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ โดยไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมาย (เก่า) ให้เป็นผู้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตตามมาตรา 32 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด
5.3 การพักใช้ใบอนุญาต การเพิกถอนใบอนุญาต คุณสมบัติและหน้าที่ของผู้รับอนุญาต และหน้าที่ของเภสัชกร ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 หรือ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559
6. เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีการแต่งตั้งใหม่
เจ้าพนักงานและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย (เก่า) ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งใหม่
7. ให้ดำเนินคดีตรวจสอบทรัพย์สินต่อไปจนกว่าคดีถึงที่สุด
คดีที่ได้มีการสั่งตรวจสอบทรัพย์สินตามกฎหมาย (เก่า) ให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 ต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
8. คำขอที่อยู่ระหว่างพิจารณา ให้ถือเป็นคำขอตามประมวลกฎหมายยาเสพติดโดยอนุโลม
คำขอที่ได้ยื่นไว้ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 หรือ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 และยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ให้ถือว่าเป็นคำขอตามประมวลกฎหมายยาเสพติดโดยอนุโลม และถ้าคำขอมีข้อความหรือเอกสารแตกต่างไปจากคำขอตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ให้ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งแก้ไขเพิ่มเติมคำขอเพื่อให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายยาเสพติดได้
9. ใบอนุญาตหรือหนังสือสำคัญ ให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุ
ใบอนุญาต ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุตำรับ หนังสือสำคัญ ใบแจ้งการนำเข้า ใบแจ้งการส่งออก ใบแทนใบอนุญาต ใบแทนใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ใบแทนใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุตำรับ และใบแทนหนังสือสำคัญที่ออกให้ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 หรือ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ให้คงใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุ
10. ให้ผู้รับอนุญาตสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จนกว่าใบอนุญาตสิ้นอายุ
ผู้รับอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ หรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ ยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้ จนกว่าใบอนุญาตนั้นสิ้นอายุ และถ้าประสงค์จะดำเนินกิจการต่อไป ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามประมวลกฎหมายยาเสพติดก่อนใบอนุญาตเดิมจะสิ้นอายุ
11. ให้ดำเนินการตรวจพิสูจน์และฟื้นฟูสมรรถภาพต่อไป เท่าที่ไม่ขัดกับประมวลกฎหมายยาเสพติด
ผู้ต้องหาซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ให้บังคับตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 ได้ต่อไป เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายยาเสพติด
12. การบังคับคดียาเสพติด ให้ดำเนินการต่อไปจนเสร็จสิ้น
คดีที่ได้มีการออกหมายบังคับคดี แต่งตั้งข้าราชการในสำนักงาน ป.ป.ส. เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ให้สำนักงาน ป.ป.ส. ดำเนินการตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 ต่อไปจนเสร็จสิ้น
13. การใช้บทสันนิษฐานว่าเป็นการกระทำเพื่อจำหน่ายหรือขาย
บทบัญญัติที่ให้สันนิษฐานว่าเป็นการกระทำเพื่อจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ และเพื่อขายวัตถุออกฤทธิ์ ให้ยังคงมีผลใช้บังคับกับคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จนกว่าคดีถึงที่สุด
แต่ในคดีที่ค้างพิจารณาในศาลชั้นต้น ถ้าคู่ความฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายยื่นคำแถลงขอสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติม ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำเพื่อจำหน่ายหรือเพื่อขายหรือไม่ ก็ให้ศาลสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร
14. อนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์ของกัญชา
ภายใน 2 ปี นับแต่ประมวลกฎหมายยาเสพติดใช้บังคับ การอนุญาตนำเข้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หรือการรักษาผู้ป่วยตามมาตรา 35 ให้นำเข้าได้เฉพาะเมล็ดพันธุ์ เว้นแต่
14.1 ผู้ขออนุญาตเป็นหน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการในด้านดังกล่าว หรือมีหน้าที่ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือสภากาชาดไทย
14.2 ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ป่วยเดิทางระหว่างประเทศ ที่มีความจำเป็นต้องนำยาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นกัญชา ติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อใช้รักษาโรคเฉพาะตัว
14.3 ผู้ขออนุญาตมีวัตถุประสงค์ เพื่อดำเนินงานเกี่ยวกับการศึกษาวินัยและพัฒนาตามมาตรา 35 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด
ที่มา
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น