การเปลี่ยนผ่านกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด สู่ "ประมวลกฎหมายยาเสพติด"


ประมวลกฎหมายยาเสพติดจะเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป วันนี้เราจะมาทำความรู้จักบทบัญญัติในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน จากกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดหลาย ๆ ฉบับ ไปสู่การเป็น "ประมวลกฎหมายยาเสพติด" กันครับ

1. ประมวลกฎหมายยาเสพติด 
ประมวลกฎหมายยาเสพติด เป็นการจัดหมวดหมู่ของกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นระบบ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเป็นการรวมกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกันให้มีความเชื่อมโยงกัน ได้แก่ กฎหมายการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กฎหมายยาเสพติดให้โทษ กฎหมายป้องกันการใช้สารระเหย กฎหมายมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด กฎหมายฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กฎหมายวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท

สำหรับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 ไม่ได้ถูกรวบไว้ในประมวลกฎหมายยาเสพติด และยังได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นอีกฉบับ คือ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564

2. การยกเลิกกฎหมาย
เมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดใช้บังคับแล้ว จะยกเลิกกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
    2.1 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
    2.2 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
    2.3 พ.ร.ก.ป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
    2.4 พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
    2.5 พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545
    2.6 พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559
    2.7 ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 108/2557 เรื่อง การปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด เพื่อเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟูและการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 รวมทั้งประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง

3. การอ้างอิงบทบัญญัติตามกฎหมาย (เก่า)
เมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดใช้บังคับแล้ว หากบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดอ้างถึงบทบัญญัติตามกฎหมาย (เก่า) ซึ่งถูกยกเลิกโดยประมวลกฎหมายยาเสพติด ให้ถือว่าเป็นการอ้างถึงบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ในบทมาตราที่มีนัยเช่นเดียวกัน

4. อนุบัญญัติตามกฎหมาย (เก่า) ยังคงใช้ได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดแย้ง หรือมีการออกอนุบัญญัติใหม่
บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามกฎหมาย (เก่า) ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายยาเสพติด หรือจนกว่าจะมีการออกกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศตามประมวลกฎหมายยาเสพติดหรือกฎหมายวิธีพิจารณาคดียาเสพติด

ส่วนกรณีที่ประมวลกฎหมายยาเสพติด บัญญัติให้การลงโทษผู้กระทำผิด หรือการขออนุญาต การอนุญาต หรือการปฏิบัติการที่กำหนด ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศ จะใช้บังคับได้ต่อเมื่อมีการออกกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศนั้นแล้ว

5. การอนุญาตในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
ในระหว่างยังไม่มีกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
    5.1 ให้ผู้อนุญาต หรือผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด มีอำนาจพิจารณาอนุญาตการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย มีไว้ในครอบครอง นำผ่าน หรือโฆษณายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ การผลิดหรือนำเข้าตัวอย่างของตำรับวัตถุออกฤทธิ์ การขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 หรือตำรับวัตถุออกฤทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 หรือ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ต่อไป เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายยาเสพติด
    5.2 ผู้ได้รับการยกเว้นให้ผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ โดยไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมาย (เก่า) ให้เป็นผู้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตตามมาตรา 32 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด
    5.3 การพักใช้ใบอนุญาต การเพิกถอนใบอนุญาต คุณสมบัติและหน้าที่ของผู้รับอนุญาต และหน้าที่ของเภสัชกร ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 หรือ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559

6. เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีการแต่งตั้งใหม่
เจ้าพนักงานและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย (เก่า) ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งใหม่

7. ให้ดำเนินคดีตรวจสอบทรัพย์สินต่อไปจนกว่าคดีถึงที่สุด
คดีที่ได้มีการสั่งตรวจสอบทรัพย์สินตามกฎหมาย (เก่า) ให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 ต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

8. คำขอที่อยู่ระหว่างพิจารณา ให้ถือเป็นคำขอตามประมวลกฎหมายยาเสพติดโดยอนุโลม
คำขอที่ได้ยื่นไว้ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 หรือ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 และยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ให้ถือว่าเป็นคำขอตามประมวลกฎหมายยาเสพติดโดยอนุโลม และถ้าคำขอมีข้อความหรือเอกสารแตกต่างไปจากคำขอตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ให้ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งแก้ไขเพิ่มเติมคำขอเพื่อให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายยาเสพติดได้

9. ใบอนุญาตหรือหนังสือสำคัญ ให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุ 
ใบอนุญาต ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุตำรับ หนังสือสำคัญ ใบแจ้งการนำเข้า ใบแจ้งการส่งออก ใบแทนใบอนุญาต ใบแทนใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ใบแทนใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุตำรับ และใบแทนหนังสือสำคัญที่ออกให้ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 หรือ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ให้คงใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุ

10. ให้ผู้รับอนุญาตสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จนกว่าใบอนุญาตสิ้นอายุ
ผู้รับอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ หรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ ยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้ จนกว่าใบอนุญาตนั้นสิ้นอายุ และถ้าประสงค์จะดำเนินกิจการต่อไป ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามประมวลกฎหมายยาเสพติดก่อนใบอนุญาตเดิมจะสิ้นอายุ

11. ให้ดำเนินการตรวจพิสูจน์และฟื้นฟูสมรรถภาพต่อไป เท่าที่ไม่ขัดกับประมวลกฎหมายยาเสพติด
ผู้ต้องหาซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ให้บังคับตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 ได้ต่อไป เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายยาเสพติด

12. การบังคับคดียาเสพติด ให้ดำเนินการต่อไปจนเสร็จสิ้น 
คดีที่ได้มีการออกหมายบังคับคดี แต่งตั้งข้าราชการในสำนักงาน ป.ป.ส. เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ให้สำนักงาน ป.ป.ส. ดำเนินการตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 ต่อไปจนเสร็จสิ้น

13. การใช้บทสันนิษฐานว่าเป็นการกระทำเพื่อจำหน่ายหรือขาย
บทบัญญัติที่ให้สันนิษฐานว่าเป็นการกระทำเพื่อจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ และเพื่อขายวัตถุออกฤทธิ์ ให้ยังคงมีผลใช้บังคับกับคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จนกว่าคดีถึงที่สุด

แต่ในคดีที่ค้างพิจารณาในศาลชั้นต้น ถ้าคู่ความฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายยื่นคำแถลงขอสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติม ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำเพื่อจำหน่ายหรือเพื่อขายหรือไม่ ก็ให้ศาลสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร

14. อนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์ของกัญชา
ภายใน 2 ปี นับแต่ประมวลกฎหมายยาเสพติดใช้บังคับ การอนุญาตนำเข้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หรือการรักษาผู้ป่วยตามมาตรา 35 ให้นำเข้าได้เฉพาะเมล็ดพันธุ์ เว้นแต่
    14.1 ผู้ขออนุญาตเป็นหน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการในด้านดังกล่าว หรือมีหน้าที่ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือสภากาชาดไทย
    14.2 ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ป่วยเดิทางระหว่างประเทศ ที่มีความจำเป็นต้องนำยาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นกัญชา ติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อใช้รักษาโรคเฉพาะตัว
    14.3 ผู้ขออนุญาตมีวัตถุประสงค์ เพื่อดำเนินงานเกี่ยวกับการศึกษาวินัยและพัฒนาตามมาตรา 35 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด

ที่มา

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542