รู้ยัง!! โรงเรียนก็ขายที่ดินได้นะ

          เป็นความจริงครับ โรงเรียนสามารถขายที่ดินได้ แต่จะมีขอบเขตการขายอย่างไร...บทความนี้มีคำตอบครับ

          เนื่องจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 59 กำหนดให้สถานศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคล มีอำนาจในการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของสถานศึกษา ทั้งที่เป็นที่ราชพัสดุ ตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ และที่เป็นทรัพย์สินอื่น ทั้งนี้จะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับนโยบาย วัตถุประสงค์ และภารกิจหลักของสถานศึกษา
          นอกจากนี้ยังกำหนดให้บรรดาอสังหาริมทรัพย์ที่สถานศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลได้มาโดยมีผู้อุทิศให้ หรือโดยการซื้อหรือแลกเปลี่ยนจากรายได้ของสถานศึกษา ไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุ และให้เป็นกรรมสิทธิ์ของสถานศึกษาด้วย
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 59

          ในเรื่องนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีคำวินิจฉัย เรื่องเสร็จที่ 47/2558 ว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายประสงค์ให้สถานศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลมีอิสระในการบริหารทรัพย์สินที่อยู่ในความครอบครองของสถานศึกษานั้นด้วยตนเอง 
          ที่ดินที่มีผู้บริจาคให้ จึงไม่เป็นที่ราชพัสดุ และเป็นกรรมสิทธิ์ของสถานศึกษา และไม่มีสถานะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แต่มีสถานะเป็นเพียงทรัพย์สินของแผ่นดินเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงไม่ต้องโอนโดยตราเป็นพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา (ตามมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 1305 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518) จึงสามารถจำหน่ายจ่ายโอนได้เช่นเดียวกับทรัพย์สินของเอกชน โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการบริหารจัดการและขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นนิติบุคคลในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ. 2546
          อย่างไรก็ตาม สถานศึกษามีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ หากจะขายที่ดินก็ควรดำเนินการตามระเบียบที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม แต่เนื่องจากไม่ปรากฏบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง จึงแนะนำให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ. ) ออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว ทั้งนี้ในการดำเนินการโอนหรือขายที่ดินที่รับบริจาค สถานศึกษาควรคำนึงถึงเงื่อนไขตามสัญญาให้ที่ดินของผู้บริจาคและระเบียบปฏิบัติของทางราชการด้วย

          ภายหลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีความเห็นข้างต้นแล้ว 7 เดือน ต่อมา สพฐ. ได้ออกระเบียบสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่าด้วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่สถานศึกษารับบริจาคแล้วยังมิได้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งที่ดินอยู่ห่างไกลหรือไม่ติดกับที่ตั้งสถานศึกษา หรือเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินมิได้ พ.ศ. 2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนที่ 95 ง เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2558 ซึ่งระเบียบดังกล่าวกำหนดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินไว้ 3 วิธี คือ
          1. การขาย 
          2. การแลกเปลี่ยน 
          3. การโอนคืนให้แก่ผู้บริจาคหรือทายาท 

          สำหรับการขายที่ดินที่ได้รับบริจาคนั้น โรงเรียนจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังนี้
          1. เป็นที่ดินที่ได้รับบริจาคซึ่งยังไม่ได้เข้าไปใช้ประโยชน์ เนื่องจากเหตุใดเหตุหนึ่งต่อไปนี้
              1.1 เป็นที่ดินอยู่ห่างไกล
              1.2 ที่ดินที่บริจาคไม่ติดกับที่ตั้งสถานศึกษา
              1.3 เข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินมิได้
          2. ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของสถานศึกษานั้นๆ โดยมีขั้นตอนดำเนินการดังนี้
              2.1 ผู้อำนวยการสถานศึกษาต้องแต่งตั้งคณะกรรมการภาคี 4 ฝ่าย ประกอบด้วย ผู้แทนครู ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนชุมชน และผู้แทนนักเรียน
              2.2 คณะกรรมการภาคี 4 ฝ่าย พิจารณา
                    1) นโยบายของ สพฐ. ในการพัฒนาที่ดิน เพื่อจัดหารายได้ของสถานศึกษา ส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาให้มีคุณภาพและศักยภาพในการพัฒนานักเรียน การพัฒนาจัดการศึกษามีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทรัพยากรในการส่งเสริมการพัฒนาดังกล่าว และรายได้ของสถานศึกษาเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในการจัดหาทรัพยากรที่ใช้สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษา การจัดหาประโยชน์จากที่ดินเป็นรายได้สถานศึกษาถือเป็นหนทางที่จะได้มาซึ่งรายได้ของสถานศึกษา จึงมีความจำเป็นจะต้องดำเนินการจัดหาประโยชน์ที่ดินให้ถูกต้องและเหมาะสม หากพิจารณาแล้วจะต้องขาย ต้องรายงานเหตุผลและความจำเป็นให้คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
                    2) กำหนดมูลค่าที่ดิน โดยประเมินจากราคาที่คาดว่าจะเป็นราคาซื้อขายจริงในท้องตลาดในปัจจุบัน และคำนึงถึงสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ สภาพและที่ตั้งของที่ดิน มูลค่าเพิ่มของที่ดินในกรณีที่จะนำไปผนวกเข้ากับที่ดินของบุคคลอื่นที่ตั้งอยู่ติดกัน รวมทั้งความเหมาะสมและปัจจัยที่สำคัญอื่นๆ ที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการ ทั้งนี้อาจให้สถาบันวิชาชีพหรือบริษัทที่ปรึกษาทางด้านการประเมินอสังหาริมทรัพย์ทำการศึกษาและประเมินราคาที่ดินเพื่อนำมาใช้เปรียบเทียบกับมูลค่าที่กำหนดไว้ก็ได้ 
                    3) ให้ขายโดยวิธีตกลงราคา แต่จะต้องไม่ต่ำกว่ามูลค่าของราคาประเมินที่กำหนด (ตามข้อ 2.2) และจะต้องได้รับอนุมัติจากผู้อำนวยการสถานศึกษา ซึ่งรายได้ที่ได้รับให้ส่งเป็นรายได้สถานศึกษา และให้ใช้จ่ายเงินได้ตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาคเท่านั้น 
                    4) การขาย ให้ทำความตกลงกับผู้บริจาคหรือทายาท เพื่อเปลี่ยนวัตถุประสงค์จากการเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดิน เป็นการขาย โดยนำรายได้มาใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค 
              2.3 คณะกรรมการภาคี 4 ฝ่าย เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของสถานศึกษา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ 


          ข้อสังเกตของผู้เขียน 
          1. ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ 47/2558 ดังกล่าว มีลักษณะคล้าย "ฎีกากลับหลัก" กล่าวคือ แต่เดิมคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่าที่ดินที่บริจาคให้สถานศึกษา ถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามมาตรา 1304 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ตามคำวินิจฉัยเรื่องเสร็จที่ 25/2507 , ที่ 46/2514) และเป็นที่ราชพัสดุด้วย (ตามคำวินิจฉัยเรื่องเสร็จที่ 767/2534) และแม้ต่อมาพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 จะมีผลใช้บังคับแล้ว โดยมาตรา 59 วรรคสอง กำหนดให้อสังหาริมทรัพย์ที่สถานศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลได้มาโดยมีผู้อุทิศให้ หรือโดยการซื้อหรือแลกเปลี่ยนจากรายได้ของสถานศึกษา ไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุ และให้เป็นกรรมสิทธิ์ของสถานศึกษา ก็ตาม แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ยังคงมีความเห็นว่าที่ดินที่ได้รับการบริจาคถือเป็นที่ราชพัสดุ (ตามคำวินิจฉัยเรื่องเสร็จที่ 187/2550) จนกระทั่งความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในปัจจุบัน (เรื่องเสร็จที่ 43/2558) ดังกล่าวที่เห็นว่าไม่ใช่ที่ราชพัสดุ และเป็นกรรมสิทธิ์ของสถานศึกษา จึงสามารถจำหน่ายจ่ายโอนได้
          2. ระเบียบสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่าด้วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่สถานศึกษารับบริจาคแล้วยังมิได้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งที่ดินอยู่ห่างไกลหรือไม่ติดกับที่ตั้งสถานศึกษา หรือเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินมิได้ พ.ศ. 2558 ออกโดยอาศัยอำนาจตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่าด้วยการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐที่เป็นนิติบุคคลในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ. 2551 และคู่มือดำเนินการเกี่ยวกับที่ราชพัสดุและที่ดินประเภทอื่น ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ ศธ 04002/ว 678 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2556 นั้น อาจไม่ถูกต้อง เนื่องจากระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการบริหารจัดการและขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นนิติบุคคล ในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ. 2546 ให้อำนาจ สพฐ. ในการออกระเบียบเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศ สพฐ. จึงได้ออกระเบียบฯ พ.ศ. 2551 แต่ไม่ครอบคลุมถึงการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งที่ดินที่ได้รับบริจาคเมื่อสามารถจำหน่ายจ่ายโอนได้ตามกฎหมาย การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ หากจะมีการเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ได้รับบริจาค ควรจะแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบ สพฐ.ฯ พ.ศ. 2551 เนื่องจากกระทำโดยอาศัยอำนาจตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการฯ พ.ศ. 2546 ทั้งระเบียบ สพฐ.ฯ พ.ศ. 2551 มิได้ให้อำนาจในการออกระเบียบเพิ่มเติมแต่อย่างใด หรือหาก สพฐ. ต้องการจะออกระเบียบแยกต่างหากจากฉบับ พ.ศ. 2551 ก็อาจทำได้แต่จะต้องอาศัยอำนาจในการออกโดยระเบียบกระทรวงศึกษาธิการฯ พ.ศ. 2546 มิใช่ระเบียบ สพฐ.ฯ พ.ศ. 2551 เช่นกัน
          3. ตามระเบียบ สพฐ.ฯ พ.ศ. 2558 ข้อ 6 กำหนดว่า "ในการขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานของสถานศึกษา" อาจไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่ปรากฏคำว่า "คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานของสถานศึกษา" ในกฎหมาย ซึ่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 มาตรา 38 ให้มี "คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน" ประกอบกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการฯ พ.ศ. 2546 และระเบียบ สพฐ.ฯ พ.ศ. 2558 ก็ได้กำหนดว่าการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และระเบียบ สพฐ.ฯ พ.ศ. 2558 ข้อ 6 ที่กำหนดว่า "...ให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง...เพื่อพิจารณาและเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของสถานศึกษา" อย่างไรก็ตาม นับแต่ประกาศใช้ระเบียบ สพฐ.ฯ พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน มีการแก้ไขคำผิดที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประมาณ 170 ครั้ง โดยไม่ปรากฏการแก้ไขถ้อยคำของระเบียบ สพฐ.ฯ พ.ศ. 2558 แต่อย่างใด

#นักเรียนกฎหมาย
1 สิงหาคม 2561


ที่มา :





ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542