กฎหมายควบคุมการเรี่ยไร (ตอนที่ 1 intro)

          กฎหมายควบคุมการเรี่ยไร ในตอนที่ 1 intro นี้ จะพาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับประวัติความเป็นมาของกฎหมายควบคุมการเรี่ยไรกันครับ
          ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเรี่ยไรที่สำคัญของไทย ได้มีการเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ร.ศ. 118 แสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรของประชาชนในสมัยนั้น เป็นการเรี่ยไรเงินไปใช้ซ่อมแซมสะพานข้ามคลองที่หักพัง ไม่สามารถใช้ข้ามไป-มาได้ อันเป็นการเรี่ยไรเงินเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นส่วนรวม ปรากฏข้อความดังนี้          


----------
          ด้วยมีพระบรมราชโองการ ดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า พระยาสุนทรบุรี ข้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลนครไชยศรี มีใบบอกที่ 9, 414 ลงวันที่ 25 เมษายน ร.ศ. 118 กราบบังคมทูลทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท ว่าที่ตำบลปากคลองเจดีย์บูชานั้น แต่เดิมมีสพาน ซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ได้สร้างไว้สำหรับให้ราษฎรข้ามไปมา บัดนี้สพานนั้นชำรุดหักพัง ไม่มีทางจะข้ามไปมาถึงกันได้ เปนความลำบากของราษฎร ที่จะข้ามคลองไปมา พระยาสุนทรบุรีได้คิดจัดการเรี่ยรายผู้ว่าราชการเมืองกรมการ เจ้าภาษีนายอากร แลราษฎร ในมณฑลนครไชยศรี กับผู้มีบรรดาศักดิ์ในกรุงเทพฯ ได้เงิน 30 ชั่ง แล้วพระยาสุนทรบุรี ได้หาจ้างช่างมารับเหมา สร้างสพานตามจำนวนเงินที่เรี่ยรายได้เปนเงิน 30 ชั่ง ทำเปนสพานหก กว้าง 6 ศอก ยาว 12 วา นายช่างได้ลงมือสร้างสพานแต่เดือนกรกฎาคม ศฏ 117 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ร.ศ. 117 แล้วเสร็จ พระยาสุนทรบุรี ได้เปิดให้ราษฎรใช้สพานหก ปากคลองเจดีย์บูชาไปมาได้โดยสดวกแล้ว พระยาสุนทรบุรีพร้อมด้วยผู้มีบรรดาศักดิ์ ผู้ว่าราชการเมืองกรมการ เจ้าภาษีนายอากร แลราษฎร บรรดาซึ่งได้ลงเงินเรี่ยราย ขอพระราชทานถวายพระราชกุศล แลขอรับพระราชทางนามสำหรับสพานนี้ด้วย
          ซึ่งข้าหลวงเทศาภิบาล กับผู้มีบรรดาศักดิ์ พร้อมด้วยผู้ว่าราชการเมืองกรมการ เจ้าภาษีนายอากร แลราษฎร พร้อมใจกันทำการกุศลลงเงินเรี่ยราย สร้างสพานหกปากคลองเจดีย์บูชานั้น มีพระราชหฤทัยยินดี และทรงพระอนุโมทนาในการกุศล แลได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทางนามสพานนี้ว่า "สพานสุนทรบุรี"
----------


ภาพราชกิจจานุเบกษา
 



          สำหรับความหมายของการ "เรี่ยไร" นั้น ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้คำนิยามว่าหมายถึง "ขอร้องให้ช่วยออกเงินทำบุญเป็นต้นตามสมัครใจ เช่น เรี่ยไรสงเคราะห์เด็กกำพร้า" ซึ่งสังคมไทยเป็นสังคมแห่งความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เกรงอกเกรงใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มักพบเห็นกันอยู่ทั่วไปว่าเมื่อมีผู้มาขอร้องให้ช่วยบริจาคเงิน เพื่อจะนำไปทำบุญหรือไปช่วยสาธารณประโยชน์ ผู้ที่ถูกเรี่ยไรก็มักจะร่วมบริจาคเงิน สิ่งของตามกำลังศรัทธา เพราะเห็นว่าการบริจาคทำแล้วได้บุญ เกิดความสบายใจ หรือเห็นว่าเป็นวิถีของคนดี

          การเรี่ยไรเพื่อทำบุญ การกุศล หรือเพื่อสาธารณประโยชน์ แม้จะมีประโยชน์อย่างยิ่ง แต่ก็ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้เช่นกัน บางครั้งมีการหลอกลวงและสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งปรากฏหลักฐานในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 125 ได้เผยแพร่ "ประกาศ ข้อบังคับสำหรับการเรี่ยรายในลานเจดีย์สถาน" ซึ่งเป็นกฎหมายกำหนดกฎเกณฑ์ในการเรี่ยไรทรัพย์ โดยผู้ที่จะเรี่ยไรจะต้องได้รับใบอนุญาต (ระบบกฎหมายเกี่ยวกับการอนุญาต) ให้ทำการเรี่ยไรก่อน หากฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษทางอาญา ดังนี้



----------

ประกาศ

ข้อบังคับสำหรับการเรี่ยรายในลานเจดีย์สถาน

          พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า ได้ทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทว่า ในสมัยนี้เวลาเทศกาลเมื่อราษฎรไปประชุมนมัสการเจดีย์สถานตามหัวเมือง คือ พระพุทธบาท เปนต้น มีคนไปตั้งเรี่ยรายในบริเวณเจดีย์สถานนั้นๆ มากขึ้นกว่าแต่ก่อน และโดยมากไม่มีใครรู้ได้ว่า คนเหล่านั้นเรี่ยรายจะเอาทรัพย์ไปประกอบกิจการกุศลอย่างใดๆ มีแต่เทียนหรือภาชนไปตั้งให้สัปรุษย์เข้าใจว่าเรี่ยราย ใครศรัทธาที่จะทำบุญทานก็ให้ทรัพย์ ครั้นเสร็จสิ้นเทศกาลแล้ว ผู้เรี่ยรายก็พาทรัพย์สูญไปเสียโดยมาก เช่นนี้เปนช่องทางที่คนโกนจะฬ่อลวงเอาทรัพย์ของสัปรุษย์ที่มีเจตนาในการกุศล หาสมควรไม่ 

          จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า แต่นี้ไปในเวลานักขัตฤกษ์ที่ราษฎรประชุมกันกระทำการสักการบูชาเจดีย์สถานที่ใดๆ ถ้าเปนผู้อื่นนอกจากผู้เปนเจ้าอาวาศ หรือเจ้าพนักงานผู้จัดการบำรุงรักษาเจดีย์สถานนั้น เรี่ยรายเพื่อบำรุงรักษาเจดีย์สถานนั้นเองแล้ว ผู้อื่นหรือผู้ที่จะตั้งเรี่ยรายเพื่อการอย่างอื่น ต้องไปขออนุญาตต่อเทศาภิบาล คือ ข้าหลวงเทศาภิบาลก็ดี ผู้ว่าราชการเมืองก็ดี นายอำเภอก็ดี ซึ่งเปนหัวหน้ารักษาการท้องที่นั้นก่อน ให้เทศาภิบาลสอบถามจนเปนที่พอใจว่า การที่เรี่ยรายนั้นเปนการกุศลสุจริตจริงแล้ว จึงให้ออกใบอนุญาต อันปรากฏชื่อผู้เรี่ยราย และการกุศลที่จะไปทำด้วยทรัพย์ที่เรี่ยรายได้ไปนั้น ไว้ในใบอนุญาตเปนสำคัญ ใบหนึ่งหรือหลายใบเท่าจำนวนซึ่งจะตั้งแยกกันเรี่ยรายในที่ต่างๆ ในบริเวณนั้น ให้ผู้เรี่ยรายเอาใบอนุญาตนี้ปิดไว้เป็นสำคัญ ให้แลเห็นได้ ณ ที่เรี่ยรายนั้นทุกๆ แห่ง ถ้าและผู้ใดไปเรี่ยรายโดยไม่ขออนุญาตก็ดี ไม่ได้รับอนุญาตก็ดี หรือไม่ใช่ใบอนุญาตตามที่ว่ามาในประกาศนี้ก็ดี ผู้นั้นมีความผิด ต้องระวางโทษปรับเปนเงิน 20 บาท หรือจำคุกมีกำหนดเดือนหนึ่ง หรือทั้งจำและปรับด้วยทั้งสองสถาน ส่วนทรัพย์ที่เรี่ยรายได้โดยผิดประกาศอันนี้ ให้เปนของสำหรับเจดีย์สถานที่ไปตั้งเรี่ยรายนั้น แต่โทษที่ว่ามาทั้งนี้ไม่ลบล้างพระราชอาญาอันจะพึงมีแก่ผู้กระทำผิดซึ่งไปตั้งเรี่ยราย แม้โดยได้รับอนุญาตแล้ว เมื่อได้ความจริงว่าการเรี่ยรายนั้น เปนการฬ่อลวงฉ้อเอาทรัพย์ของผู้อื่นอันมีถานโทษหนักกว่ากำหนดที่ได้ว่ามาแล้ว

          ประกาศมา ณ วันที่ 1 เมษายน รัตนโกสินทรศก 125 เปนวันที่ 13655 ในรัชกาลปัตยุบันนี้


(ลงพระนาม) ดำรงราชานุภาพ 
เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย 

----------


ภาพราชกิจจานุเบกษา

----------


          หลังจากนั้นเป็นต้นมา ได้มีการประกาศการเรี่ยไรของหน่วยงานต่างๆ เพื่อสาธารณประโยชน์ อาทิ สร้างสะพาน โรงเรียน บูรณะปฏิสังขรณ์ ขุดบ่อ ขุดสระ เหล่านี้เป็นจำนวนมาก ต่อมาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2480 ในสมัยรัชกาลที่ 8 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ตรากฎหมายขึ้นเพื่อควบคุมการเรี่ยไร คือ "พระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พุทธศักราช 2480" ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 54 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2480 ซึ่งนำระบบการอนุญาตให้ทำการเรี่ยไร มาใช้ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนทำการเรี่ยไร มีการกำหนดตัวบุคคลที่ไม่มีสิทธิเรี่ยไร และกำหนดบทลงโทษทางอาญาไว้ด้วย

          ภายหลังประกาศใช้บังคับได้เพียง 6 ปีเศษ ปรากฏว่าการควบคุมการเรี่ยไรยังไม่รัดกุมเท่าที่ควร ในวันที่ 11 มกราคม 2487 จึงมีการตรากฎหมายฉบับใหม่ขึ้น ชื่อว่า "พระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พุทธศักราช 2487" ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 6 เล่ม 61 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2487 มีผลเป็นการยกเลิกกฎหมายฉบับพุทธศักราช 2480 ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่นี้ได้เปลี่ยนเปลี่ยนหลักเกณฑ์ไปจากของเดิมหลายประการ อาทิ กำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไร เพื่อเป็นผู้พิจารณาการอนุญาตให้ทำการเรี่ยไร แก้ไขเปลี่ยนแปลงบุคคลที่มีสิทธิเรี่ยไร นอกจากนี้มีการกำหนดให้มีหลักกฎหมายที่สำคัญ ซึ่งถือเป็นมาตรฐานทางกฎหมายในปัจจุบัน คือ หลักกฎหมายเกี่ยวกับเงื่อนไขของคำสั่งทางปกครองและการให้เหตุผลของคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 9 ซึ่งบัญญัติว่า

         "เมื่อมีผู้ขอรับอนุญาต... คนะกัมการควบคุมการเรี่ยไรมีอำนาจสั่งไม่อนุญาต หรือสั่งอนุญาต โดยกำหนดเงื่อนไข
          (1) ...
          (2) ...
          ...
          ไนกรนีที่สั่งอนุญาต ให้คนะกัมการกำหนดวันสิ้นอายุแห่งไบอนุญาตไว้ด้วย และไนกรนีที่สั่งไม่อนุญาต ให้แจ้งและสแดงเหตุผลไห้ผู้ขออนุญาตซาบ"

นอกจากนี้ยังปรากฏหลักกฎหมายเกี่ยวกับการอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการที่สั่งไม่อนุญาตการเรี่ยไรด้วย ตามมาตรา 10 วรรคท้าย ซึ่งบัญญัติว่า

          "ไนกรณีที่สั่งไม่อนุญาต ผู้ขออนุญาตมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่พายในกำหนดสิบห้าวัน นับแต่วันได้ซาบคำสั่งไม่อนุญาต การยื่นอุทธรณ์ไนจังหวัดพระนครและธนบุรีไห้ยื่นต่อคนะกัมการซึ่งรัถมนตรีแต่งตั้งขึ้น ไนจังหวัดอื่นไห้ยื่นต่อคนะกรมการจังหวัด คำชี้ขาดของคนะกัมการหรือคนะกรมการจังหวัดแล้วแต่กรนีไห้เปนที่สุด"




          ปัจจุบันพระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พุทธศักราช 2487 ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ตลอดจนศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่มีความเก่าแก่อีกฉบับหนึ่งที่มีมาตรฐานทางกฎหมายซึ่งได้รับการยอมรับในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังปรากฏว่าตั้งแต่มีการประกาศใช้จนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2561 เป็นระยะเวลา 74 ปี ไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับนี้แต่อย่างใด 

          ...สำหรับตอนต่อไป จะได้นำเสนอหลักเกณฑ์ต่างๆ ของกฎหมายควบคุมการเรี่ยไรฉบับปัจจุบัน ตลอดจนสภาพปัญหาที่พบจากการเรี่ยไร หากชอบช่วยแชร์ต่อด้วยนะครับ...


#นักเรียนกฎหมาย
19 กรกฎาคม 2561


-----------


ที่มา : 

          1. ประกาศกระทรวงมหาดไทย [ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ การเรี่ยไรและสร้างสะพานหกปากคลองเจดีย์บูชา มณฑลนครไชยศรี ขอถวายเป็นพระราชกุศลและขอพระราชทานนามว่า สะพานสุนทรบุรี)  http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2442/008/115_1.PDF
          2. ประกาศ ข้อบังคับสำหรับการเรี่ยรายในลานเจดีย์สถาน http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2449/001/6.PDF
          3. พระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พุทธศักราช 2480 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2480/A/1138.PDF
          4. พระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พุทธศักราช 2487 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2487/A/006/117.PDF
          5. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 (ออนไลน์) http://www.royin.go.th/dictionary/
          






ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542